องค์กรร่วมไทย — มาเลเซียขอความเห็นชอบในร่างข้อตกลงว่าด้วยการร่วมกันผลิตปิโตรเลียม (Unitisation Agreement, UA)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 9, 2013 11:06 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง องค์กรร่วมไทย — มาเลเซียขอความเห็นชอบในร่างข้อตกลงว่าด้วยการร่วมกันผลิตปิโตรเลียม

(Unitisation Agreement, UA) ระหว่างองค์กรร่วมไทย — มาเลเซีย (MTJA)

และบริษัท Petroliam Nasional Berhad (PETRONAS) สำหรับการร่วมกันผลิตปิโตรเลียมแหล่งสุริยา (Suriya)

ในแปลง A — 18 ของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย — มาเลเซีย กับแหล่งสุริยา เซลาตัน (Suriya Selatan)

ในแปลง PM 2 ของประเทศมาเลเซีย

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในร่างข้อตกลงว่าด้วยการร่วมกันผลิตปิโตรเลียม แหล่งสุริยา-สุริยา เซลาตัน (Suriya-Suriya Selatan) ระหว่างองค์กรร่วมไทย — มาเลเซีย (MTJA) และบริษัท Petroliam Nasional Berhad (PETRONAS) สำหรับการร่วมกันผลิตปิโตรเลียมแหล่งสุริยา (Suriya) ในแปลง A — 18 ของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย — มาเลเซีย และแหล่งสุริยา เซลาตัน (Suriya Selatan) ในแปลง PM 2 ของประเทศมาเลเซีย และแจ้งให้องค์กรร่วมลงนาม เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ได้ตรวจพิจารณาแล้ว

2. เห็นชอบยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 เรื่อง การทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่กำหนดให้การทำสัญญาไม่ควรระบุในสัญญาให้มอบข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด เนื่องจากร่างข้อตกลงฉบับนี้ จำเป็นที่จะต้องกำหนดวิธีการระงับข้อพิพาท โดยให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด เพื่อให้สอดคล้องกับร่างข้อตกลงเบื้องต้น (Head of Agreement, HOA) สำหรับการร่วมกันผลิตปิโตรเลียมแหล่งสุริยา-สุริยา เซลาตัน ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมี่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552

สาระสำคัญของร่างข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดสิทธิและพันธะระหว่างองค์กรร่วมและ PETRONAS รวมถึงการดำเนินงานและการจัดการในการร่วมกันพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมแหล่งสุริยา — สุริยา เซลาตัน ในพื้นที่ร่วมผลิต (Unit Area) มีขนาด 173.226 ตารางกิโลเมตร (อยู่ในเขตพื้นที่พัฒนาร่วม 142.017 ตารางกิโลเมตรและพื้นที่ของประเทศมาเลเซีย 31.209 ตารางกิโลเมตร) โดยกำหนดสัดส่วนแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียมเบื้องต้น (Initial Tract Participation) คือ แปลง A-18 ได้รับร้อยละ 85 และแปลง PM 2 ได้รับร้อยละ 15 และสามารถทำการประเมินสัดส่วนการแบ่งผลผลิตปิโตรเลียมใหม่ (Re-determination) ทุก 5 ปี ในกรณีที่ผลการประเมินมีความแตกต่างกันโดยรวมเกินกว่าร้อยละ 3 ให้มีการปรับสัดส่วนแบ่งปันผลผลิตและแบ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามสัดส่วนผลผลิตดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ใช้แผนการพัฒนาของแปลง A-18 และขายก๊าซในราคาตามที่กำหนดในสัญญาซื้อขายก๊าซแปลง A-18 และให้มีคณะกรรมการ Unit Management Committee ฝ่ายละ 4 คนเท่า ๆ กัน ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการและกำกับดูแลการดำเนินงาน ทั้งนี้ ร่างข้อตกลงดังกล่าวได้ยกร่างขึ้นภายใต้หลักการและอยู่ในกรอบของข้อตกลงเบื้องต้นที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลทั้งสองแล้ว

ร่างข้อตกลงฉบับนี้มีสาระสำคัญและหลักการเช่นเดียวกับร่างข้อตกลงว่าด้วยการร่วมผลิตปิโตรเลียมระหว่างแหล่งภูมี — ภูมีใต้ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มกราคม 2556--จบ--


แท็ก มาเลเซีย   petrol   satio  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ