โครงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เครื่องที่ 1 — 3

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 16, 2013 09:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เครื่องที่ 1 — 3 ในวงเงินลงทุนรวม 3,600 ล้านบาท

2. อนุมัติการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนประจำปี 2557 สำหรับโครงการฯ จำนวน 319.36 ล้านบาท

สาระสำคัญของเรื่อง

พน. รายงานว่า

1. เขื่อนศรีนครินทร์เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2516 โดยแล้วเสร็จในปี 2523 เป็นเขื่อนหินทิ้งแกนทึบน้ำ มีความสูงจากฐานราก 140 เมตร สันเขื่อนยาว 610 เมตร กว้าง 15 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 419 ตารางกิโลเมตร มีความจุมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร โรงไฟฟ้าเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 5 เครื่อง เครื่องที่ 1 -3 มีกำลังผลิตเครื่องละ 120 เมกะวัตต์ เครื่องที่ 4 - 5 เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระบบสูบกลับ กำลังผลิตเครื่องละ 180 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 720 เมกะวัตต์ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ยปีละ 1,403 ล้านหน่วย

2. โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เครื่องที่ 1 — 3 มีอายุการใช้งาน 31 ปี อุปกรณ์มีการชำรุดทรุดโทรม หมดอายุการใช้งาน อะไหล่สำรองหายาก เมื่อนับถึงปีที่ปรับปรุงมีอายุการใช้งาน 34 ปี ซึ่งถือว่าหมดอายุการใช้งานแล้ว สมควรแก่การปรับปรุงเปลี่ยนอุปกรณ์ เพื่อยืดอายุการใช้งาน เพิ่มประสิทธิภาพให้มีความพร้อม และความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษา

3. สาระสำคัญของโครงการ

3.1 วัตถุประสงค์โครงการ

เพื่อปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เครื่องที่ 1 — 3 ให้สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 30 ปี

3.2 ที่ตั้งโครงการ : บ้านเจ้าเณร ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี

3.3 สถานภาพโรงไฟฟ้า : ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 5 เครื่อง รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 720 เมกะวัตต์

3.4 อ่างเก็บน้ำ : มีความจุ 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำสูงสุดปกติที่ +180 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง

3.5 ระยะดำเนินโครงการฯ : มีนาคม 2557 ถึงมิถุนายน 2561

3.6 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 3,600 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินตราต่างประเทศ 2,400.08 และเงินบาท 1,199.92 ล้านบาท

3.7 แหล่งเงินทุน : กฟผ. (ร้อยละ 26) และแหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ (ร้อยละ 74)

3.8 กำหนดแล้วเสร็จ : ประมาณเดือนมิถุนายน 2561

3.9 ผลตอบแทนการลงทุนของโครงการ

ในการวิเคราะห์ค่าไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว ใช้ราคาซื้อขายไฟฟ้าเฉลี่ยของ กฟผ. 2.319 บาทต่อหน่วย (ราคาซื้อขายไฟฟ้าเฉลี่ยของ กฟผ. 2.50 บาทต่อหน่วย หักด้วยค่าสายส่ง 0.181 บาทต่อหน่วย) ได้ผลตอบแทนโครงการ ดังนี้ ผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ ร้อยละ 37.58 ผลตอบแทนด้านการเงิน ร้อยละ 30.30 ผลตอบแทนส่วนทุน ร้อยละ 52.62 มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Profit) 5,422.59 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุน 6 ปี

3.10 ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ มีดังนี้ 1) ช่วยยืดอายุโรงไฟฟ้าเดิมให้ใช้งานได้อีกไม่น้อยกว่า 30 ปี 2)เพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อม (Availability) และมั่นคง (Reliability) ในการผลิตไฟฟ้า 3) ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษา

3.11 การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากเป็นการปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เครื่องที่ 1 — 3 ที่มีอยู่เดิมและอาศัยปริมาณน้ำในการผลิตไฟฟ้าจากอ่างเก็บน้ำเดิม โดยมีการปล่อยน้ำและควบคุมน้ำในลักษณะเดียวกับที่ผ่านมาซึ่งไม่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งอาศัยตามมาตรา 67 (2) ตามรัฐธรรมนูญของไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มกราคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ