คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการกำกับดูแลราคาสินค้าจากการดำเนินนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. นโยบายการดูแลราคาสินค้า การดูแลราคาสินค้าเป็นภารกิจหลักด้านหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 84 (1) ที่บัญญัติให้รัฐสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาด และได้ดูแลราคาสินค้าโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 คือ
1.1 ราคาสินค้าต้องเป็นธรรม มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง
1.2 ปริมาณสินค้ามีเพียงพอไม่ขาดแคลน มีปริมาณครบถ้วนถูกต้อง
1.3 ไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าหรือกักตุนสินค้า จะเข้มงวดในการดูแลทั้งต้นทางและปลายทาง โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการบริหาร และมาตรการเสริม
2. แนวทางการกำกับดูแล
2.1 ด้านราคาสินค้า ตรึงหรือชะลอการปรับราคาสินค้า โดยจะมีการกำกับดูแลราคาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าสูงขึ้นเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนี้
การดูแลราคาสินค้า ณ โรงงาน (ต้นน้ำ) โดยแบ่งการกำกับดูแลเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่ 1 สินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบนำเข้า (2) กลุ่มที่ 2 สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก (3) กลุ่มที่ 3 สินค้าที่ใช้วัตถุดิบทั้งในประเทศและนำเข้า และ (4) กลุ่มที่ 4 หมวดอาหารสด ซึ่งหากจำเป็นต้องปรับราคาจะพิจารณาให้ปรับราคาตามภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง สำหรับหมวดอาหารสด เนื่องจากราคาขึ้นลงตามฤดูกาล จะมีการตรวจสอบราคาและเข้มงวดในการปิดป้ายราคา รวมทั้งการประกาศราคาแนะนำ
การดูแลราคาจำหน่ายของตัวแทนจำหน่ายและผู้ค้าส่ง (กลางน้ำ) ดูแลราคาจำหน่ายส่งให้มีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับราคา ณ โรงงาน (ต้นน้ำ) เพื่อมิให้มีการฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบทั้งด้านราคาจำหน่ายและปริมาณ
การดูแลราคาจำหน่ายปลีก (ปลายน้ำ) ติดตามราคาจำหน่ายปลีกให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต โดยกำหนดสินค้าที่ต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด 3 ระดับ ได้แก่ (1) Watch List (WL) ระดับปกติ ติดตามภาวะและสถานการณ์ใกล้ชิดเป็นประจำทุกสัปดาห์ (2) Priority Watch List (PWL) ระดับที่เริ่มไม่ปกติ ติดตามภาวะและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง และ (3) Sensitive List (SL) ระดับที่ส่อเค้าว่าจะมีปัญหา ติดตามราคา และภาวะเป็นประจำทุกวัน
2.2 ด้านปริมาณ ดูแลให้สินค้าเพียงพอกับความต้องการ ไม่มีการกักตุนสินค้า
3. มาตรการกำกับดูแล
3.1 มาตรการทางกฎหมาย ได้แก่ (1) การกำหนดราคาจำหน่ายสูงสุด (2) การปรับราคาสูงขึ้นต้องได้รับอนุญาต (3) การให้แจ้งปริมาณ สถานที่เก็บต้นทุน ค่าใช้จ่าย และ (4) ห้ามมิให้มีการกักตุน ปฏิเสธการจำหน่าย และประวิงการจำหน่ายสินค้าควบคุม
3.2 มาตรการบริหาร (1) ขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้า และ(2) การประกาศราคาแนะนำสินค้า
3.3 การกำกับดูแลราคาสินค้าให้เป็นธรรม คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาสินค้า จำนวน 9 คณะ ได้แก่ (1) สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป (2) น้ำมันพืชบริโภค (3) ปุ๋ยเคมี (4) อาหารสัตว์ (5) ผลิตภัณฑ์นม (6) เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (7) อาหารปรุงสำเร็จ (8) ยารักษาโรคแผนปัจจุบัน และ (9) กลั่นกรองการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมและมาตรการกำกับดูแล เพื่อพิจารณาราคาจำหน่ายสินค้าที่เหมาะสมในกรณีที่มีผู้ประกอบการแจ้งขอปรับราคาจำหน่ายสินค้าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค
4. ผลกระทบการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำครั้งนี้ต่อต้นทุนและราคาสินค้า ดังนี้
4.1 ด้านต้นทุนการผลิต สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน วันที่ 1 มกราคม 2556 เช่น สินค้าน้ำมันพืช สบู่ ผงซักฟอก ปูนซีเมนต์ และเหล็กเส้น เป็นต้น เนื่องจากได้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 (ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกเป็นวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต) ทั้งนี้ จะมีมาตรการติดตามภาวะราคาจำหน่ายสินค้าอย่างใกล้ชิดไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า โดยอ้างสาเหตุจากการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) จะได้รับผลกระทบประมาณร้อยละ 2 - 6 เช่น สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องหนัง เป็นต้น
4.2 ด้านราคาจำหน่าย อาจมีผลทางจิตวิทยา ทำให้ร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกปรับราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ จะมีมาตรการจัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบราคาจำหน่ายอย่างใกล้ชิด หากพบว่าร้านค้ามีพฤติกรรมฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
4.3 การเพิ่มค่าจ้างแรงงานจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลในส่วนต่าง ๆ เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง
4.4 ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการเพื่อลดภาระต้นทุนได้จากค่าแรงงานที่จ่ายเพิ่มขึ้นโดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ใช้แรงงานให้สูงขึ้นตาม ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนลดลง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะต่อไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมด้วย
5. แนวโน้มราคาสินค้าในปี 2556
สินค้าส่วนใหญ่มีราคาทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับปี 2555 เนื่องจากวัตถุดิบซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลิตสินค้าคาดว่าราคายังคงทรงตัว สำหรับปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ น้ำมันดิบดูไบ คาดว่าจะอยู่ที่ 100 - 120 USD/บาร์เรล (ปี 2555 อยู่ที่ 88.98 - 124.09 USD/บาร์เรล) และอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าจะอยู่ที่ 28.50 - 32.50 บาท/USD (ปี 2555 อยู่ที่ 30.38 - 32.05 บาท/USD) ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลยังคงมีมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มกราคม 2556--จบ--