การผ่อนผันแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเป็นกรณีพิเศษเพื่อดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 16, 2013 09:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ในการประชุม กบร. ครั้งที่ 3/2555 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2555 ให้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ลักลอบทำงานอยู่กับนายจ้างในประเทศไทยอยู่แล้ว รวมทั้งบุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 15 ปี อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเป็นเวลา 120 วัน เพื่อดำเนินการให้ได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) จากประเทศต้นทาง และได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับได้รับอนุญาตทำงานเฉพาะกับนายจ้างเดิมต่อไป โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตามมติ กบร. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้

1) กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการ

(1) ออกประกาศผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ลักลอบทำงานอยู่กับนายจ้างในประเทศไทยอยู่แล้ว รวมทั้งบุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 15 ปี อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเป็นเวลา 120 วัน เพื่อให้นายจ้างพาไปขอรับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) กับประเทศต้นทาง ขอรับการตรวจลงตรา และใบอนุญาตทำงานตามขั้นตอนและสถานที่ที่กรมการจัดหางานกำหนด และไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 รวมทั้งออกประกาศรับรองการใช้เอกสารแทนหนังสือเดินทาง และออกประกาศยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามา ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะสำหรับแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา โดยมิให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 12 (3) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาใช้บังคับกับแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) ให้สามารถใช้หลักฐานดังกล่าว เพื่อขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant-LA) และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นเวลา 2 ปี สามารถขออยู่ในราชอาณาจักรได้อีกครั้งเดียวระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี และสามารถทำงานเป็นกรรมกรหรือรับจ้างทำงานด้วยกำลังกายได้ (ในกรณีที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับเดิมไม่ครอบคลุมถึง)

(2) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราประเภทผู้ติดตามให้แก่บุตรของแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่อายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) ในอัตรา 500 บาท และสามารถขออยู่ต่อได้อีกครั้งเดียวในอัตรา 500 บาท เช่นกัน และให้มีผลใช้บังคับในระยะเวลาที่เท่ากับ บิดา — มารดา

2) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการรับตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant-LA) และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 2 ปี ให้แก่แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา รวมทั้งตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรในลักษณะผู้ติดตามแก่บุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว(Temporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) และสามารถขออยู่ในราชอาณาจักรได้อีกครั้งเดียวระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือสถานที่ที่กรมการจัดหางานกำหนดโดยจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 500 บาท และสามารถขออยู่ต่อได้อีกครั้งเดียวค่าธรรมเนียมในอัตรา 500 บาท เช่นกัน สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราของบุตรแรงงานต่างด้าวดังกล่าว ในระหว่างที่กฎกระทรวงลดอัตราค่าธรรมเนียมยังไม่มีผลบังคับใช้ให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราปกติ

3) กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการรับตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร ตามที่นายจ้างได้ยื่นคำร้องขอจ้างแรงงานต่างด้าวไว้กับกรมการจัดหางาน และรับประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม รวมทั้งรับประกันสุขภาพผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว

4) กรมการจัดหางาน ดำเนินการดังนี้

(1) จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในท้องที่ที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว

(2) รับแบบคำร้องขอจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมบัญชีรายชื่อ แบบคำร้องขอนำเข้าแรงงานต่างด้าว Demand Letter พร้อมใบโควตา สัญญาจ้าง และหลักฐานอื่นๆ ตามที่กรมการจัดหางานกำหนด ภายใน 1 เดือน และส่งให้ประเทศต้นทางเพื่อดำเนินการต่อไป

(3) ประชาสัมพันธ์ แจ้งนายจ้างพาแรงงานต่างด้าวไปขอรับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ที่จัดตั้งขึ้น

(4) รับคำขออนุญาตทำงานตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 (ตท.2) และจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่กฎหมายกำหนด

(5) อนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าว กรณีแรงงานต่างด้าวไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ ให้ยกเลิกการอนุญาต คืนเงินค่าธรรมเนียม และแจ้งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

(6) จัดทำข้อมูล (Bio Data) โดยการจัดเก็บภาพใบหน้าและพิมพ์ลายนิ้วมือแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน

5) กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการมอบอำนาจให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีอำนาจในการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant-LA) แก่แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา รวมทั้งตรวจลงตราในลักษณะผู้ติดตามแก่บุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) โดยให้มีอำนาจการตรวจลงตรา (visa) ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือสถานที่ที่กรมการจัดหางานกำหนด

6) สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในลักษณะเช่นเดียวกับแรงงานที่เป็นคนไทย โดยให้เลือกซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข หรือประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเอกชน

7) กระทรวงการคลัง ดำเนินการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้การดำเนินการตามกระบวนการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูล (Bio Data) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

8) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังนี้

(1) ผ่อนผันดำเนินการตามสมควรแก่กรณี กับนายจ้าง แรงงานต่างด้าวซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ

(2) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด ภายหลังสิ้นสุดการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร เพื่อป้องกันแรงงานต่างด้าวรายใหม่ลักลอบเข้ามาทำงาน รวมทั้งนายจ้างที่ลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าว ผู้นำพา และผู้ให้ที่พักพิงแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มกราคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ