1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ....
2. ร่างกฎกระทรวงคลังน้ำมัน พ.ศ. ....
3. ร่างกฎกระทรวงระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมัน พ.ศ. .... และ
4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติของผู้ทดสอบและตรวจสอบน้ำมันและผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบน้ำมัน และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทดสอบและตรวจสอบน้ำมัน พ.ศ. ....
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้งการอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... เป็นการปรับปรุงกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2546 เพื่อให้ครอบคลุมถึงการประกอบกิจการน้ำมันก๊าซปิโตรเลียมเหลวและก๊าซธรรมชาติ
1.1 หมวด 1 บททั่วไป กำหนดลักษณะภาชนะบรรจุน้ำมันก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซธรรมชาติ และลักษณะของสถานประกอบกิจการน้ำมัน กิจการก๊าซปิโตรเลียมเหลว และกิจการก๊าซธรรมชาติ (ร่างข้อ 4 ถึงข้อ 41)
1.2 หมวด 2 ประเภทและลักษณะของกิจการควบคุม กำหนดแบ่งประเภทกิจการควบคุมออกเป็น 3 ประเภท (ร่างข้อ 42 ถึงข้อ 44)
1.3 หมวด 3 การแจ้งการประกอบกิจการควบคุม กำหนดให้ผู้ใดประสงค์จะประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 2 ต้องแจ้งการประกอบกิจการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบดังกล่าว และหากประกอบกิจการเกินกว่าหนึ่งแห่ง ให้ผู้ประกอบกิจการแจ้งการประกอบกิจการทุกแห่ง (ร่างข้อ 45 ถึงร่างข้อ 48)
1.4 หมวด 4 การอนุญาตการประกอบกิจการควบคุม กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาต การต่อใบอนุญาต การเปลี่ยนแปลงแก้ไขใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 (ร่างข้อ 49 ถึงร่างข้อ 61)
2. ร่างกฎกระทรวงคลังน้ำมัน พ.ศ. ....เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการประกอบกิจการคลังน้ำมัน
2.1 หมวด 1 ลักษณะของแผนผังและแบบก่อสร้าง กำหนดที่ตั้งแผนผัง รูปแบบ และลักษณะของคลังน้ำมันเชื้อเพลิง แผนผังระบบท่อและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในเขตคลังน้ำมัน แบบก่อสร้างถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ แบบระบบท่อดับเพลิงและอุปกรณ์แบบก่อสร้างอาคารแท่นจ่ายน้ำมัน แบบก่อสร้างระบบบำบัดหรือแยกน้ำปูนเปื้อนน้ำมัน แบบก่อสร้างเขื่อน กำแพง หรือบ่อเก็บกักน้ำมัน แบบก่อสร้างท่อหรือรางระบายน้ำ(ร่างข้อ 4 ถึงร่างข้อ 19)
2.2 หมวด 2 ลักษณะและระยะปลอดภัยภายนอก คลังน้ำมันต้องตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมและปลอดภัยแก่การขนส่งน้ำมัน (ร่างข้อ 20 ถึงร่างข้อ 22)
2.3 หมวด 3 ลักษณะและระยะปลอดภัยภายใน กำหนดรายละเอียดระยะปลอดภัยของการตั้งถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่เหนือพื้นดิน การตั้งถังเก็บน้ำมันใต้พื้นดิน การตั้งกระป๋องน้ำมัน ถังน้ำมัน หรือถังเก็บน้ำมันขนาดเล็กในเขตคลังน้ำมัน (ร่างข้อ 23 ถึงร่างข้อ 29)
2.4 หมวด 4 ถังเก็บน้ำมันและอุปกรณ์ กำหนดลักษณะของถังเก็บน้ำมัน โดยถังเก็บน้ำมันจะต้องทำการทดสอบและตรวจสอบก่อนการใช้งานและเมื่อใช้งานครบหนึ่งปีและสิบห้าปี (ร่างข้อ 30 ถึงร่างข้อ 40)
2.5 หมวด 5 ระบบท่อน้ำมันและอุปกรณ์ กำหนดลักษณะและวิธีการติดตั้งระบบท่อน้ำมันและอุปกรณ์ โดยระบบท่อน้ำมันและอุปกรณ์ต้องทำการทดสอบและตรวจสอบก่อนการใช้งานและเมื่อใช้งานครบสิบห้าปี (ร่างข้อ 41 ถึงร่างข้อ 45)
2.6 หมวด 6 การป้องกันและระงับอัคคีภัย กำหนดให้คลังน้ำมันต้องติดตั้งระบบท่อน้ำดับเพลิง มีเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งหรือน้ำยาดับเพลิง มีโฟมเข้มข้น ที่นำมาใช้เป็นสารละลายโฟมได้ตลอดเวลา มีระบบจ่ายน้ำสำหรับดับเพลิงให้เพียงพอต่อการระงับอัคคีภัย และต้องจัดให้มีระบบสัญญาณเตือนภัยที่สามารถได้ยินหรือรับรู้โดยอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการควบคุมต้องจัดทำแผนระงับเหตุเพลิงไหม้ และมีการฝึกซ้อมแผนระงับเหตุเพลิงไหม้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คลังน้ำมันอยู่ในเขตท้องที่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง (ร่างข้อ 46 ถึงร่างข้อ 58)
3. ร่างกฎกระทรวงระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมัน พ.ศ. .... เป็นการกำหนดเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมัน
3.1 หมวด 1 บททั่วไป กำหนดให้ระบบไฟฟ้าตามกฎกระทรวงนี้ครอบคลุมเฉพาะระบบไฟฟ้าที่อยู่ภายในบริเวณอันตรายของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมัน การเดินสายไฟฟ้า การติดตั้งระบบไฟฟ้า และการติดตั้งระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ให้ออกแบบและควบคุมโดยวิศวกรไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร (ร่างข้อ 3 และร่างข้อ 4)
3.2 หมวด 2 แบบระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่ากำหนดให้แสดงรายละเอียดของแบบระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า (ร่างข้อ 7 และร่างข้อ 8)
3.3 หมวด 3 บริเวณอันตรายของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันกำหนดลักษณะของบริเวณอันตรายของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมัน กำหนดบริเวณอันตรายตามตำแหน่ง พื้นที่และขอบเขตระยะห่างภายในเขตสถานที่บริการน้ำมันแต่ละประเภทคลังน้ำมัน และสถานที่ที่มีการรับหรือจ่ายน้ำมันโดยระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ และกำหนดให้อุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบริภัณฑ์ที่ยอมรับให้ใช้ในบริเวณอันตรายต้องได้รับการรับรองจากองค์กรใดองค์กรหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (ร่างข้อ 9 ถึงร่างข้อ 16)
3.4 หมวด 4 ระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า กำหนดสิ่งปลูกสร้างที่ต้องจัดให้มีระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ลักษณะของวัสดุที่ใช้ในระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าขนาดและการติดตั้งตัวนำล่อฟ้า ตัวนำลงดิน และตัวนำประสาน (ร่างข้อ 17 ถึงร่างข้อ 29)
3.5 หมวด 5 การตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่ากำหนดให้สถานที่ประกอบกิจการน้ำมันต้องทำการตรวจาสอบระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าก่อนเริ่มประกอบกิจการน้ำมันหรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในเขตสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันที่มีผลต่อระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า (ร่างข้อ 30)
4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติของผู้ทดสอบและตรวจสอบน้ำมันและผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบน้ำมัน และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทดสอบและตรวจสอบน้ำมัน พ.ศ. ....เป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทดสอบและตรวจสอบน้ำมันและผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบน้ำมัน และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทดสอบและตรวจสอบน้ำมัน
4.1 หมวด 1 บททั่วไป กำหนดให้การทดสอบและตรวจสอบต้องดำเนินการโดยผู้ทดสอบและตรวจสอบ ตามระดับและมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ และกำหนดให้ผู้ทดสอบและตรวจสอบแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 1 สามารถดำเนินการทดสอบและตรวจสอบรายการต่างๆ ในสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันที่มีปริมาณของภาชนะบรรจุน้ำมันรวมกันไม่เกิน 360,000 ลิตร
(2) ผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 2 สามารถดำเนินการทดสอบและตรวจสอบรายการต่างๆ ในสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันที่มีปริมาณของภาชนะบรรจุน้ำมันรวมกันไม่เกิน 500,000 ลิตร
(3) ผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 3 สามารถดำเนินการทดสอบและตรวจสอบรายการต่างๆ ทุกประเภทในสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง(ร่างข้อ 3 ถึงร่างข้อ 4)
4.2 หมวด 2 เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบ กำหนดประเภทของเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบ (ร่างข้อ 5)
4.3 หมวด 3 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ทดสอบและตรวจสอบและผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบ (ร่างข้อ 6 ถึงร่างข้อ 12)
4.4 หมวด 4 หนังสือรับรองเป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบและผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบ กำหนดให้ผู้ใดประสงค์จะเป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบ หรือปฏิบัติงานเป็นหัวหน้าวิศวกรทดสอบ วิศวกรทดสอบ ผู้ชำนาญการทดสอบกรรมวิธีไม่ทำลายสภาพเดิม หรือผู้ชำนาญการทดสอบและตรวจสอบถังเก็บน้ำมัน ให้ยื่นคำขอหนังสือรับรองตามแบบที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนดต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เมื่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานพิจารณาคำขอแล้วเห็นว่า ผู้ยื่นคำขอเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ให้ออกหนังสือรับรองตามแบบที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนดไว้เป็นหลักฐาน โดยหนังสือรับรองให้มีอายุสามปี (ร่างข้อ 13 ถึงร่างข้อ 18)
4.5 หมวด 5 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทดสอบและตรวจสอบ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตลอดจนข้อปฏิบัติในการทดสอบและตรวจสอบ (ร่างข้อ 19 ถึงร่างข้อ 24)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 มกราคม 2556--จบ--