คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 28/2556 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการพัฒนาเมือง ตามที่รัฐบาลได้มีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่สมดุล และมีความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุนสินเชื่อรายย่อย เพื่อช่วยในการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนการเพิ่มสวัสดิการของรัฐเพื่อเป็นการดูแลและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคสังคม โดยให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการกองทุนจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับพื้นที่ได้ด้วยตนเอง
เพื่อให้การอำนวยการและบริหารจัดการของชุมชนในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ ดำเนินไปอย่างมีระบบและมีการบูรณาการในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองโดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
องค์ประกอบ
ประกอบด้วย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกรุงเทพมหานคร เลขาธิการคณะกรรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคน โดยมี นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็น กรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและการบัญชี สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
อำนาจหน้าที่
1. จัดทำแนวทางการจัดสรรงบประมาณให้ชุมชนเมือง เพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแผนงานที่กำหนดไว้บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนและการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมือง
2. จัดทำระเบียบ ประกาศ และคำสั่ง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเพื่อรองรับการปฏิบัติงาน
3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
4. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเชิงวิชาการ และการวิจัยในส่วนที่เกี่ยวข้อง
5. รายงานผลการปฏิบัติงานและปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานต่อนายกรัฐมนตรี
6. เชิญส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐอื่น และบุคคลที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็น หรือจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ
7. ดำเนินการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายสำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ค่าใช้จ่ายในเดินทาง และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่จำเป็นในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานให้เบิกจ่ายตามระเบียบของทางราชการ โดยอนุโลม ทั้งนี้ ในเบื้องต้นให้เบิกจ่ายจากเงินอุดหนุนจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และสำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณโครงการพัฒนาเมือง สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 มกกราคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 มกราคม 2556--จบ--