1. รับทราบผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม 2556 ณ จังหวัดอุตรดิตถ์
2. เห็นชอบตามมติที่ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 1/2556 ณ จังหวัดอุตรดิตถ์ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติที่ประชุม รวมทั้ง รายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม 2556 เวลา 17.30 — 19.00 น. ณ ห้องประชุม Conference Room 2 ชั้น 4 อาคาร ICIT มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย รวม 13 เรื่อง สรุปดังนี้
1. การส่งเสริมการค้าและการลงทุน (เสนอโดย กกร.)
1.1 ข้อเสนอ
1) ขอให้เร่งรัดการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก ภายในปี 2558 และพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (ผู้แทน กกร. และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง) ขึ้นภายใต้กรอบคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เพื่อเป็นกลไกการติดตามเร่งรัดการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด และกำหนดรูปแบบ มาตรการส่งเสริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ
2) ขอให้เร่งรัดยกระดับด่านภูดู่ อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ จากจุดผ่อนปรนเป็นด่านถาวร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจชายแดนเพื่อเป็นประตูเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเหนือตอนล่าง และรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558
1.2 มติที่ประชุม
1) มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแกนกลางในการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนของการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก เช่น ปัญหารถบรรทุกสินค้าที่มีน้ำหนักเกิน ปัญหาโครงสร้างที่ชำรุด เป็นต้น
2) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานบูรณาการหลักร่วมกับ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาในภาพรวม โดยนำข้อเสนอการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก เข้ามาพิจารณาในคณะกรรมการดังกล่าว ทั้งนี้ ให้นำความเห็นที่ประชุมไปประกอบการพิจารณาจัดตั้งกลไกดังกล่าวด้วย
3) มอบหมายให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปศึกษาและเตรียมความพร้อมหากมีการยกระดับจุดผ่อนปรนภูดู่ขึ้นเป็นจุดผ่านแดนถาวร และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศรับไปติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานดังกล่าว
2. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ (เสนอโดย กกร.)
2.1 ข้อเสนอ
1) ขอให้เร่งรัดโครงการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ภายในปี 2558 เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทย และการยกระดับด่านภูดู่ให้เป็นด่านถาวร
2) ขอให้ศึกษาทบทวนโครงการศึกษาและพัฒนาจังหวัดพิษณุโลกเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางภาคเหนือตอนล่างและสี่แยกอินโดจีน เพื่อให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ (1) ศูนย์บริการขนส่งผู้โดยสาร (Bus Terminal) และ (2) ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center : DC)
2.2 มติที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม รับไปพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1) เร่งรัดดำเนินการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (พิษณุโลก — หล่มสัก) จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจรให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2558
2) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปพิจารณาทบทวนโครงการศึกษาและพัฒนาจังหวัดพิษณุโลกเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางภาคเหนือตอนล่างและสี่แยกอินโดจีน โดยให้ศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงจุดพื้นที่ตั้งของศูนย์กลางที่มีความเหมาะสมในการเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางและพื้นที่โดยรอบด้วย
3. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (เสนอโดย กกร.)
3.1 ข้อเสนอ
ขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก วงเงิน 248,500,000 บาท เพื่อป้องกันผลกระทบจากอุทกภัยต่อภาคเศรษฐกิจและประชาชนโดยรวมของจังหวัดพิษณุโลกจากปัญหาน้ำท่วมล้นตลิ่ง และกัดเซาะตลิ่งพังทลาย รวมทั้งป้องกันการบุกรุกที่สาธารณะประโยชน์ทำลายสิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพร้อมระบบสาธารณูปโภคบริเวณริมแม่น้ำน่านอย่างเป็นรูปธรรม
3.2 มติที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปศึกษาและจัดทำรายละเอียดโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งแผนงาน/โครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และเสนอคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
4. การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการสุขภาพ (เสนอโดย กกร.)
4.1 ข้อเสนอ
ขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเป็น Medical Excellence Centre / Medical Tourism สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในกลุ่มจังหวัด ในวงเงิน 2,900 ล้านบาท
4.2 มติที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รับไปพิจารณาในรายละเอียดโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเป็น Medical Excellence Centre / Medical Tourism โดยจัดลำดับความสำคัญในส่วนที่มีความจำเป็นและสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีตามขั้นตอนต่อไป
5. เรื่องอื่นๆ ที่ภาคเอกชนเสนอ (เสนอโดย สทท./กกร.) รวม 6 เรื่อง ดังนี้
5.1 การยกระดับบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (เสนอโดย สทท.)
1) ข้อเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการยกระดับบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและทั่วประเทศ วงเงินรวม 60 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรม
2) มติที่ประชุม
(1) มอบหมายให้กระทรวงแรงงานรับไปดำเนินการพัฒนาบุคลากรในภาคการท่องเที่ยวในช่วงเดือนมิถุนายน — กันยายน 2556 เพื่อให้เสร็จทันก่อนฤดูกาลการท่องเที่ยวปี 2556
(2) มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเร่งดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2558 เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณารายละเอียดของโครงการและสนับสนุนงบประมาณต่อไป
(3) มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อหัวให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ
5.2 มาตรการเร่งด่วนเพื่อผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน (เสนอโดย กกร.)
1) ข้อเสนอ
ขอให้ภาครัฐกำหนดนโยบายและมาตรการจูงใจให้เอื้อต่อการลงทุน และส่งเสริมการพัฒนาถ่ายทอดด้านเทคโนโลยีให้เป็นมาตรการเร่งด่วน โดยสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) สำหรับการลงทุนและขยายกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2 เป็นระยะเวลา 8 ปี ตลอดจนมอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งผลักดันและสนับสนุนโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bio-plastics) และชีวเคมี (Bio-chemicals)
2) มติที่ประชุม
(1) มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดตั้งกลไกเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การจัดหาวัตถุดิบที่เหมาะสม การกำหนดมาตรการการส่งเสริม ตลอดจนพิจารณาเลือกจังหวัดต้นแบบที่มีความเหมาะสมตามลักษณะการจัดเขตพื้นที่
(2) มอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และภาคเอกชน เพื่อจัดทำข้อเสนอมาตรการการคลังเพื่อส่งเสริมการอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่เหมาะสม
5.3 ความคืบหน้าการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ (ระบบราง) (เสนอโดย กกร.)
1) ข้อเสนอ
ขอทราบความชัดเจนนโยบายการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ด้านระบบรางและกรอบเวลาเพื่อเร่งรัดดำเนินโครงการในเส้นทางตามที่ภาคเอกชนเสนอ และส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งและการบริการโลจิสติกส์ของประเทศและในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย (1) โครงการรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง (2) โครงการรถไฟทางคู่ 4 เส้นทาง และ (3) การเพิ่มเส้นทางรถไฟและการเพิ่มเส้นทางรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง
2) มติที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ด้านระบบรางของประเทศในภาพรวม ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
5.4 ความคืบหน้าการส่งเสริมการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน (เสนอโดย กกร.)
1) ข้อเสนอ
ขอให้เร่งรัดเจรจากับประเทศเมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา เพื่อยกระดับจุดผ่อนปรนเป็นด่านถาวร รวมทั้งเร่งรัดกระบวนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรชายแดน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เช่น การจัดทำโครงการศึกษาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนฯ และเร่งรัด/ทบทวนร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... ที่กำหนดกลไกในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการให้บริการบริเวณพรมแดนและการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียน เป็นต้น
2) มติที่ประชุม
มอบหมายให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย รับไปพิจารณาเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาด่านชายแดนให้สอดคล้องกับประเทศไทย และนำเข้าบูรณาการในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
5.5 บทบาทภาคเอกชนในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ไปสู่การปฏิบัติ (เสนอโดย กกร.)
1) ข้อเสนอ
ขอให้เร่งรัดจัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 สู่การปฏิบัติ เพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินการและให้การติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานด้านต่างๆ เป็นรูปธรรม
2) มติที่ประชุม
มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รับไปพิจารณาร่วมกับภาคเอกชนทั้ง 5 สถาบันเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานในการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาที่ได้มีข้อสรุปร่วมกันในการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 ให้เป็นรูปธรรม และประสานกับกลไกการขับเคลื่อนที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยจัดลำดับความสำคัญของประเด็นการพัฒนาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ
5.6 รับทราบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. …. ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแจ้งว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ทันกำหนดการประชุมของกลุ่มความร่วมมือต่อต้านในการฟอกเงินเอเชีย — แปซิฟิก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่มีกำหนดการประชุมในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 มกราคม 2556--จบ--