คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่ รองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง) ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (กอม.) เสนอ โดยให้แก้ไขชื่อพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานจาก “Kaeng Krachan Forest Complex : KKFC” เป็น “Thailand Western Forest Complex” และให้รองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) เป็นผู้กำกับดูแลในการบูรณาการและบริหารจัดการดังกล่าวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการต่อไป
สาระสำคัญของการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน สรุปได้ดังนี้
1. ข้อมูลทั่วไป ประกอบด้วย ภาคีสมาชิกผู้จัดเตรียมการเสนอ ชื่อ ที่อยู่ สถาบัน/หน่วยงาน ไปรษณีย์อิเล็กโทรนิกส์ โทรสาร โทรศัพย์
2. ข้อมูลแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ประกอบด้วย ชื่อของพื้นที่จังหวัด พิกัดทางภูมิศาสตร์
3. ข้อมูลคุณลักษณะ
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานตั้งอยู่ด้านฝั่งตะวันออกของเทือกเขาตะนาวศรี ติดต่อกับผืนป่าประเทศเมียนมาร์ มีพื้นที่ทั้งหมดรวม4,822.25 ตารางกิโลเมตร (482,225 เฮกตาร์) ประกอบด้วย พื้นที่ 5 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน (อยู่ระหว่างการเตรียมการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ) และพื้นที่แนวเชื่อมต่อระหว่างอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและกุยบุรี เขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตปลอดภัยทางทหารพื้นที่ป่าแก่งกระจานจัดอยู่ในเขตนิเวศอินโดมาลายัน (Indo-Malayan Ecoregion) กลุ่ม Tenasserim-South Thailand Semi-evergreen rain forest ชนิดป่าที่ปกคลุมพื้นที่มากที่สุด คือ ป่าดิบแล้งปกคลุมพื้นที่ถึงร้อยละ 59 เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำภาชี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำกุยบุรี
4. เหตุผลที่สมควรสำหรับการมีคุณค่าความโดดเด่นเป็นสากล
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวิภาพที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยพบชนิดพันธุ์อย่างน้อย 720 ชนิด มีการกระจายพันธุ์จากถิ่นอาศัยทางใต้ขึ้นไปจนถึงบริเวณเหนือสุด เช่น ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกบั้งรอกปากแดง และนกปรอดสีน้ำตาลตาแดง ปาดป่าจุดขาว และค่างดำ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างเขตภูมิพฤกษ์ (Floristic-provinces) 4 ลักษณะเด่น ได้แก่ (1) Indo-Burmese หรือ Himalayan (2) Indo-Malaysian (3) Annamatic และ (4) Andamanese พบการปรากฎของพืชเฉพาะถิ่น เช่น จำปีเพชร (Magnolia mediocris) และจำปีดอย (M. gustavii) ซึ่งราชอาณาจักรไทยพบเฉพาะในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเท่านั้น เป็นแหล่งสำคัญของสัตว์ป่าที่ใกล้ศูนย์พันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) คือ จระเข้น้ำจืด และได้รับการประกาศเป็นมรดกแห่งอาเซียน เมื่อปี พ.ศ. 2546
5. เกณฑ์ที่เหมาะสม
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานตรงกับเกณฑ์ข้อ 10 คือ “ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ในถิ่นที่อยู่ (In-situ conservation) ของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงถิ่นที่อยู่ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามที่มีความโดดเด่นเป็นสากลทั้งจากมุมของวิทยาศาสตร์หรือการอนุรักษ์
6. การเปรียบเทียบพื้นที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นเขตนิเวศเดียวกันกับพื้นที่แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้งและพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
7. แผนบริหารจัดการพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ปี ค.ศ. 2008-2017 ในส่วนของการบริหารจัดการพื้นที่ การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มกราคม 2556--จบ--