คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2556 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2556 โดยสอบถามจากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ จำนวน 3,900 คน ระหว่างวันที่ 1 - 13 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ ได้สะท้อนข้อคิดเห็นของประชาชนต่อภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้นำผลการสำรวจไปใช้เป็นแนวทางในการติดตามนโยบายประเมินผล และปรับปรุงการดำเนินงานแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของประชาชนต่อไป ขณะนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำผลการสำรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การประสบปัญหาภัยธรรมชาติ
ในรอบปีที่ผ่านมา ประชาชน ร้อยละ 57.2 ระบุว่า ประสบภัยธรรมชาติ โดยในจำนวนนี้ประสบปัญหาอุทกภัย (ร้อยละ 71.1) ภัยแล้ง (ร้อยละ 32.6) วาตภัย (ร้อยละ 8.8) ภัยหนาว (ร้อยละ 5.3) ภัยจากไฟป่าและหมอกควัน (ร้อยละ 4.4) ดินโคลนถล่ม/ดินสไลด์ (ร้อยละ 1.5) แผ่นดินไหว (ร้อยละ 1.3) และคลื่นพายุซัดฝั่ง (ร้อยละ 0.2)
ความเสียหายที่ได้รับจากภัยธรรมชาติ พบว่า มีประชาชนที่ประสบภัยธรรมชาติ ร้อยละ 81.2 ได้รับความเสียหาย โดยในจำนวนนี้ระบุว่า เสียหายมาก (ร้อยละ 28.7) ปานกลาง (ร้อยละ 50.3) และน้อย (ร้อยละ 21.0) นอกจากนี้ ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ พบว่า ร้อยละ 73.2 ได้รับความช่วยเหลือ/เยียวยา โดยได้รับจากหน่วยงานภาครัฐ (ร้อยละ 97.9) องค์กร มูลนิธิ (ร้อยละ 12.8) และสื่อมวลชน (ร้อยละ 7.0)
2. การดำเนินการของภาครัฐเกี่ยวกับการป้องกันภัยธรรมชาติ
ประชาชนกว่าร้อยละ 80 พึงพอใจต่อภาครัฐเกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการป้องกันภัยธรรมชาติ โดยมีขั้นตอนที่ประชาชนพอใจเกินกว่าร้อยละ 90 ได้แก่ การเตือนภัย (ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ รวดเร็ว) ร้อยละ 90.3 และการเฝ้าระวัง (ให้ความรู้เรื่องภัยธรรมชาติ เตรียมพร้อม ฝึกซ้อม) ร้อยละ 90.2 ส่วนขั้นตอนอื่น ๆ ประชาชนพึงพอใจน้อยกว่าร้อยละ 90 ดังนี้ การป้องกันภัย (มีแผนป้องกันภัย ชัดเจน กำหนดพื้นที่อพยพ จัดหาแหล่งน้ำ) ร้อยละ 87.8 การแก้ปัญหาเมื่อเกิดภัย (รวดเร็วทันการณ์ ตรงตามความต้องการ) ร้อยละ 87.1 และฟื้นฟู เยียวยา หลังเกิดภัย (รวดเร็ว เหมาะสม ทั่วถึง) ร้อยละ 84.2 ทั้งนี้มีประชาชน ร้อยละ 82.9 ที่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของระบบการป้องกันและรับมือภัยธรรมชาติของรัฐบาล โดยเชื่อมั่นในระดับมาก (ร้อยละ 19.1) ปานกลาง (ร้อยละ 69.3) และน้อย (ร้อยละ 11.6)
3. การทราบเกี่ยวกับกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ
ประชาชน ร้อยละ 68.8 ไม่ทราบว่าภาครัฐมีกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประสบภัย 3 ภัย (น้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุ) และที่ทราบมีร้อยละ 31.2
4. การประสบปัญหามลพิษ และการแก้ไขปรับปรุงปัญหามลพิษให้ดีขึ้น
ประชาชนร้อยละ 32.0 ประสบปัญหามลพิษในรอบปีที่ผ่านมา โดยในจำนวนนี้ประสบปัญหามลพิษทางอากาศ (ร้อยละ 52.9) มลพิษจากขยะ (ร้อยละ 37.5) มลพิษทางน้ำ (ร้อยละ 34.3) และมลพิษทางเสียง (ร้อยละ 18.8)
การแก้ไขปัญหามลพิษ ประชาชนที่ประสบปัญหามลพิษ ร้อยละ 52.7 ระบุว่า ปัญหามลพิษต่าง ๆ ได้มีการแก้ไขให้ดีขึ้น และในจำนวนนี้เห็นว่ามลพิษที่มีการแก้ไข คือ มลพิษจากขยะ (ร้อยละ 45.7) มลพิษทางน้ำ (ร้อยละ 41.2) มลพิษทางอากาศ (ร้อยละ 36.8) และมลพิษทางเสียง (ร้อยละ 9.4)
5. มาตรการของภาครัฐในการควบคุมมลพิษ
ประชาชนได้ระบุถึงมาตรการของภาครัฐที่สำคัญ 3 อันดับแรกที่สามารถช่วยควบคุมมลพิษต่าง ๆ ได้ ดังนี้ ควรมีการสร้างจิตสำนึกและตระหนักถึงปัญหามลพิษ (ร้อยละ 72.6) การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงอันตรายที่เกิดจากมลพิษสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 38.1) และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก เช่น ไบโอดีเซล แก๊สโซฮอลล์ (ร้อยละ 33.9)
นอกจากนี้ ประชาชน ร้อยละ 79.8 เห็นด้วยกับการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับภาระการเสียภาษี หากจะมีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม (เช่น ผู้ซื้อต้องจ่ายเพิ่มสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่จะกลายเป็นขยะให้ต้องกำจัดหรือโรงงานต้องเสียภาษีจากการปล่อยมลพิษทางน้ำ โดยจ่ายตามปริมาณมลพิษที่ปล่อย)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มกราคม 2556--จบ--