คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 ดังต่อไปนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการตามคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
2. กำหนดให้ผู้ประสานงานกลางมีอำนาจส่งข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือทรัพย์สินใด ไปให้ต่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวน การฟ้องคดีหรือการพิจารณาคดีในศาลแม้ประเทศนั้นยังมิได้ ร้องขอ
3. แก้ไขเพิ่มเติมให้ศาลส่งบันทึกคำเบิกความของพยานรวมทั้งพยานหลักฐานอื่นในสำนวนไปยังพนักงานอัยการผู้ยื่นคำร้องเพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการต่อไป
4. แก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการการค้น อายัด หรือยึดทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐาน และเพื่อประโยชน์ชั้นที่สุดในการริบทรัพย์สิน หรือในการบังคับบุคคลใดให้ชำระเงินแทนการริบทรัพย์สินในกรณีที่ศาลต่างประเทศยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้อายัดหรือยึดทรัพย์สินนั้น แม้ว่าการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้มีการค้น อายัด หรือยึดจะมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร
5. แก้ไขเพิ่มเติมการโอนบุคคลซึ่งถูกคุมขังให้ครอบคลุมถึงการโอนบุคคลซึ่งถูกคุมขังเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีทั้งชั้นเจ้าพนักงานและชั้นศาล
6. กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการกรณีที่ได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ให้บุคคลซึ่งถูกควบคุมโดยประเทศผู้ร้องขอหรือประเทศที่สามเดินทางผ่านประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีชั้น เจ้าพนักงานหรือชั้นศาลในประเทศผู้ร้องขอ
7. แก้ไขเพิ่มเติมการริบหรือยึดทรัพย์สินให้ครอบคลุมการอายัดทรัพย์สินและการบังคับชำระเงินแทนการริบทรัพย์สินตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต่างประเทศ
8. กำหนดให้ถือว่าบรรดาพยานหลักฐาน เอกสาร และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตามกฎหมายนี้เป็นพยานหลักฐานและเอกสารที่รับฟังได้ตามกฎหมาย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556--จบ--