คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเป็นประจำทุกเดือน โดยสอบถามประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศมีครัวเรือนตกเป็นตัวอย่าง 27,960 ครัวเรือนต่อเดือน สำหรับในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ในภาพรวมสถานการณ์แรงงานมีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 1.65 แสนคน (จาก 3.22 แสนคน เป็น 1.57 แสนคน) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ของปี 2554 หากเปรียบเทียบกับช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 6.6 หมื่นคน (จาก 2.23 แสนคน เป็น 1.57 แสนคน) สำหรับสาระสำคัญการสำรวจสรุปได้ ดังนี้
1. ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน
ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 40.17 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 39.97 ล้านคน ผู้ว่างงาน 1.57 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 4.0 หมื่นคน ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554 จำนวน 7.2 แสนคน (จาก 39.45 ล้านคน เป็น 40.17 ล้านคน)
2. ผู้มีงานทำ
2.1 ผู้มีงานทำ 39.97 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554 จำนวน 9.9 แสนคน (จาก 38.98 ล้านคน เป็น 39.97 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ซึ่งมีผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลงในสาขาต่างๆ ได้ดังนี้
2.2 ผู้ทำงานเพิ่มขึ้น ผู้ทำงานภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคน (จาก 15.53 ล้านคน เป็น 16.83 ล้านคน) รองลงมาเป็น สาขาการผลิต 2.6 แสนคน (จาก 5.15 ล้านคน เป็น 5.41 ล้านคน) สาขาการก่อสร้าง 1.5 แสนคน (จาก 2.05 ล้านคน เป็น 2.20 ล้านคน) สาขาที่พักแรมและการบริการด้านอาหาร 1.5 แสนคน (จาก 2.23 ล้านคน เป็น 2.38 ล้านคน)
2.3 ผู้ทำงานลดลง ได้แก่ ผู้ทำงานในสาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ 2.4 แสนคน (จาก 1.80 ล้านคน เป็น 1.56 ล้านคน) รองลงมาเป็น สาขากิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกาย การดูแลสัตว์เลี้ยง การบริการซักรีด และซักแห้ง เป็นต้น 2.1 แสนคน (จาก 0.75 ล้านคน เป็น 0.54 ล้านคน) สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ 1.4 แสนคน (จาก 6.26 ล้านคน เป็น 6.12 ล้านคน) สาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 6.0 หมื่นคน (จาก 0.44 ล้านคน เป็น 0.38 ล้านคน) และสาขาการศึกษา 6.0 หมื่นคน (จาก 1.37 ล้านคน เป็น 1.31 ล้านคน) เป็นต้น
3. ผู้ว่างงาน
3.1 ผู้ว่างงานทั่วประเทศมีจำนวน 1.57 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.4 ของกำลังแรงงานรวม (ลดลง 1.65 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554) ประกอบด้วย ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 5.6 หมื่นคน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.01 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคการบริการและการค้า 5.2 หมื่นคน ภาคการผลิต 4.5 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 4.0 พันคน
3.2 ผู้ว่างงานเป็นผู้มีการศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา จำนวน 5.9 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3.7 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 3.6 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 1.6 หมื่นคน และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 9.0 พันคน
3.3 ผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง 7.1 หมื่นคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2.6 หมื่นคน ภาคใต้ 2.4 หมื่นคน ภาคเหนือ 2.0 หมื่นคน และกรุงเทพมหานคร 1.6 หมื่นคน หากคิดเป็นอัตราการว่างงาน ภาคกลางมีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 0.7 รองลงมาเป็นภาคใต้ และกรุงเทพมหานครร้อยละ 0.4 ภาคเหนือร้อยละ 0.3 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 0.2
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556--จบ--