ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินและกรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ ที่ราชพัสดุ ผังเมือง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการต่าง ๆ มาพิจารณาว่า ยังมีความทับซ้อนอย่างไร เพื่อนำที่ดินทั้งหมดมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ทั้งในกรณีอนุรักษ์ เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัยและความมั่นคง เป็นต้น
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. 2505 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534
2. กำหนดนิยามคำว่า “การจัดรูปที่ดิน” “การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม” “เกษตรกรรม” “เขตโครงการจัดรูปที่ดิน” “เขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม” และ “คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัด”
3. กำหนดให้มี “คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง” ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 18 หน่วยงาน เป็นกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้ง และให้หัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเป็นกรรมการและเลขานุการ
4. กำหนดให้เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดินตามมาตรา 36 ใช้บังคับในบริเวณใดในเขตกรุงเทพมหานครให้มีคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำกรุงเทพมหานคร เรียกว่า “คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกรุงเทพมหานคร” และกรณีใช้บังคับในบริเวณใดในจังหวัดใดแล้ว ให้มีคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด เรียกว่า “คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัด”
5. กำหนดให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางและคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
6. กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางขึ้นในกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ ได้แก่ การดำเนินการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม การจัดรูปที่ดิน เป็นต้น และให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางทำหน้าที่เป็นสำนักงานจัดรูปที่ดินกรุงเทพมหานครด้วย ทั้งนี้ ในกรณีที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางเห็นสมควรให้มีการจัดการลำเลียงน้ำจากทางน้ำชลประทาน หรือแหล่งน้ำอื่นใดไปใช้เพื่อประโยชน์ในพื้นที่ใด และเป็นพื้นที่ที่ยังมิได้ประกาศเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ให้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อออกประกาศกำหนดแนวเขตสำรวจการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมในเขตพื้นที่นั้น และให้มีแผนที่สังเขปแสดงเขตท้องที่ที่จะสำรวจไว้ด้วย
7. กำหนดให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม การซ่อมแซมและบำรุงรักษา การใช้น้ำในแนวเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม และการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการจัดรูปที่ดิน การซ่อมแซมและบำรุงรักษา การใช้น้ำเพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการเกษตร หรือใช้น้ำมากเกินควรในเขตโครงการจัดรูปที่ดินจากเจ้าของที่ดินหรือผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน
8. กำหนดให้ในกรณีที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางเห็นสมควรกำหนดให้พื้นที่เกษตรกรรมใดหรือพื้นที่ในเขตจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน และให้มีแผนที่สังเขปแสดงเขตท้องที่ที่จะสำรวจไว้ด้วย พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับได้มีกำหนดห้าปี
9. กำหนดให้เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 36 ใช้บังคับแล้ว ถ้าคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดเห็นสมควรให้นำที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือที่ธรณีสงฆ์ภายในเขตตามพระราชกฤษฎีกานั้นมาดำเนินการจัดรูปที่ดินให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
10. กำหนดให้ภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน เจ้าของที่ดินหรือผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ และที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
11. กำหนดให้จัดตั้ง “กองทุนจัดรูปที่ดิน” ในกรมชลประทาน ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ได้แก่ เงินที่ได้จากงบประมาณ เงินที่ได้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เป็นต้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556--จบ--