1.รับทราบผลการร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้านของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(องค์การมหาชน) (สพพ.)
2. รับทราบผลการประเมินโครงการความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจที่แล้วเสร็จทั้ง4 โครงการ
3. รับทราบข้อเสนอแนวทางเชิงนโยบายในการร่วมมือเพื่อพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้านของ สพพ. ในอนาคต เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 สพพ.ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 10,683.70 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินรวม 18 โครงการ วงเงิน 10,547.80 ล้านบาท และ(2) โครงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการรวม 20 โครงการ วงเงิน 135.90 ล้านบาท แบ่งเป็น ความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อเตรียมความพร้อม 9 โครงการ รวมเป็นเงิน 132.00 ล้านบาท และความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อการถ่ายทอดความรู้แก่เจ้าหน้าที่ประเทศเพื่อนบ้าน 11 ครั้ง รวมเป็นเงิน 3.90 ล้านบาท
2. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 มีโครงการความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของ สพพ. ที่แล้วเสร็จและครบกำหนดเวลาที่สามารถประเมินผลโครงการได้ มี 4 โครงการ คือ 1)โครงการเชื่อมโยงคมนาคมระหว่างไทย -เมียนมาร์ จากเมียวดี — เชิงเขาตะนาวศรี (โครงการถนนเมียวดี)สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (เมียนมาร์) 2) โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดหนองคาย — ท่านาแล้ง(โครงการรถไฟท่านาแล้ง) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) 3)โครงการปรับปรุงสนามบินระหว่างประเทศวัดไต (โครงการสนามบินวัดไต) สปป. ลาว 4) โครงการก่อสร้างร่องระบายน้ำฮ่องวัดไต(โครงการร่องระบายน้ำฮ่องวัดไต) สปป.ลาว
3. ผลการประเมินโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 สพพ. ได้จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการประเมินผลโครงการตามข้อ 2. โดยศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ และจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการประเมินในภาพรวมของโครงการพบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับดี-ดีมาก สามารถสรุปได้ดังนี้
1) ทุกโครงการสอดคล้องกับความต้องการของประเทศเพื่อนบ้าน และนโยบายของไทยในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค
2) ทุกโครงการก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และผู้ใช้ประโยชน์จากโครงการ แต่เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการและเพิ่มการใช้ประโยชน์จากโครงการควรมีการดำเนินงานเพิ่มเติมเป็นรายโครงการ ดังนี้
(1) โครงการถนนเมียวดีอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วในการเดินทาง และการขนส่งสินค้า สนับสนุนให้เกิดการขยายตัวการค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์บริเวณด่านแม่สอด จังหวัดตาก และก่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งทางด้านการค้าและอุตสาหกรรม
ข้อเสนอเพิ่มเติม (1)ขยายถนนจากเมียวดีต่อไปจนถึงเมืองเมาะลำไย และเมืองตาธง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังย่างกุ้งและอินเดียได้ (2)บำรุงรักษาเส้นทางอย่างต่อเนื่อง กำหนดมาตรฐานการออกแบบก่อสร้างสอดคล้องกับสภาพการใช้งาน และมีการควบคุมน้ำหนักบรรทุก (3)จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแม่สอด (4) ปรับปรุงขั้นตอนและกฎเกณฑ์ต่างๆ และพิธีการศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน และ (5) ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่2 เพื่อลดความแออัดของการเดินทาง
(2) โครงการรถไฟท่านาแล้ง เพิ่มรูปแบบการเดินทางโดยทางราง เนื่องจากเป็นทางรถไฟสายแรกของ สปป.ลาว ทำให้ สปป.ลาว สามารถเปลี่ยนจาก Land-locked Countryเป็น Land-linked Country ได้ แต่การใช้ประโยชน์ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากระยะทางยังสั้น (3.5กิโลเมตร) และไม่มีการขนส่งสินค้า
ข้อเสนอเพิ่มเติม (1)ก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อจากสถานีท่านาแล้งถึงนครหลวงเวียงจันทน์(2) จัดตั้งศูนย์กองเก็บและขนถ่ายสินค้า (CY)บริเวณสถานีท่านาแล้ง (3) ปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณของสถานีท่านาแล้งจากระบบ Manualเป็นระบบอัตโนมัติ (4) ก่อสร้างสะพานสำหรับรถไฟโดยเฉพาะ เพื่อลดการสับหลีกหรือปิดกั้นการจราจรบนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (5) ร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดหาหัวรถจักร และแคร่บรรทุก เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าและ (6) ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเข้าไปจับคู่ธุรกิจ หาพันธมิตร เพื่อบริหารจัดการ CY บริเวณท่านาแล้ง และให้บริการด้านการประกันภัยใน สปป.ลาว
(3) โครงการสนามบินวัดไตสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ รวมทั้งสามารถรองรับการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว และการเข้ามาประกอบธุรกิจใน สปป.ลาว ทำให้ปริมาณผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบิน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศของ สปป.ลาว มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ข้อเสนอเพิ่มเติม ควรมีการพัฒนาบุคลากรทางด้านการบินของ สปป.ลาวเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถบริหารจัดการสนามบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(4) โครงการร่องระบายน้ำฮ่องวัดไตสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและช่วยให้การระบายน้ำบริเวณรอบสนามบินวัดไตและพื้นที่ใกล้เคียงดีขึ้น นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถใช้ถนน 2 ฝั่งของร่องระบายน้ำเป็นทางสัญจรได้
ข้อเสนอเพิ่มเติม (1) จัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในนครหลวงเวียงจันทน์อย่างเป็นระบบ (บำรุงรักษาร่องระบายน้ำเดิม ก่อสร้างร่องระบายน้ำเพิ่มเติม ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย) และ (2) ปรับปรุงถนน 2 ฝั่งของร่องระบายน้ำให้เป็นถนนลาดยาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวสำหรับการเดินทางช่วงฤดูฝน
4. ข้อเสนอแนวทางเชิงนโยบายในการร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้านของ สพพ.ในอนาคต
คณะกรรมการบริหารสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(คพพ.) ได้รับทราบผลการประเมินโครงการทั้ง 4 โครงการที่กล่าวแล้ว และได้มีข้อเสนอแนะแนวทางเชิงนโยบายการร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้านของ สพพ. ในอนาคต ดังนี้
1) ยุทธศาสตร์การร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้านของ สพพ. ยังคงให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลัก คือ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาค (Connectivity)เพื่อให้การคมนาคมขนส่งภายในภูมิภาคมีระยะทางสั้นลงและใช้เวลาในการเดินทางและขนส่งเร็วขึ้น รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงไปภูมิภาคอื่นต่อไป (2) การสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการขยายตัวทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit) ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาค เพื่อรองรับการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 และ (3)การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (Relationship)
ทั้งนี้ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านจะให้ครอบคลุมทุกประเทศตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สพพ. ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม รวมทั้งกระจายสาขาการร่วมมือเพื่อการพัฒนาไปยังสาขาอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการคมนาคมขนส่ง เช่น สาขาการศึกษาและการฝึกทักษะแรงงาน สาขาสาธารณสุข สาขาเกษตร สาขาอุตสาหกรรม และสาขาพลังงาน เป็นต้น
2) การร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้านบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จะนำรูปแบบการพัฒนาโครงการเชื่อมโยงคมนาคมระหว่างไทย-เมียนมาร์ จากเมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี ซึ่งพัฒนาโครงข่ายถนน เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างกัน (Connectivity) มาเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาเป็นประตูการค้า (Gateway) สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการขยายตัวทางด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และประเพณีระหว่างกัน ซึ่งประชาชนที่อยู่บริเวณชายแดนจะได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว เช่น การพัฒนาบริเวณด่านสิงขร/มอต่อง-มะริด ด่านบ้านพุน้ำร้อน/บ้านแม่ทะมี่-ทวาย และด่านเจดีย์สามองค์/พญาตองซู-ทันบูไซยัด เป็นต้น
3) การร่วมมือเพื่อการพัฒนาโดยการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย โดย สพพ. เป็นโอกาสหนึ่งที่สินค้าและบริการจากประเทศไทยสามารถกระจายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นการขยายกำลังการผลิตของประเทศไทยอีกทางหนึ่ง ดังนั้น จึงสมควรให้หน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยได้รับความสะดวกและรวดเร็วในพิธีการทางด้านการค้าระหว่างประเทศและการขนส่งสินค้าข้ามแดน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556--จบ--