มาตรการแก้ไขปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 12, 2013 17:23 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสถานการณ์แนวทาง และมาตรการแก้ไขปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ซึ่งเป็นภารกิจและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ ในการกำกับดูแลและพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ทั้งระบบ รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ พ.ศ. 2549 ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นประธานกรรมการ ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556

ทั้งนี้ มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์รับไปบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากไข่ไก่ในรูปแบบต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้มีการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของไข่ไก่ให้ถูกต้องด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

สถานการณ์ไข่ล้นตลาด

คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2555 ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้อธิบดีกรมปศุสัตว์ (นายทฤษดี ชาวสวนเจริญ) เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์ไก่ไข่ปี 2555 มีผู้ประกอบการผลิตไก่ไข่ทั้งหมด 21 ราย เสนอแผนการผลิต โดยจะนำเข้าปู่-ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (G.P.) จำนวน 5,200 ตัว และพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ไข่ (P.S.) จำนวน 712,372 ตัว ช่วงเดือนมกราคม — 24 ตุลาคม 2555 นำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ไข่ (P.S.) มาแล้วทั้งหมด 431,711 ตัว สำหรับปริมาณผลผลิตปี 2555 คาดการณ์ว่าจะมีแม่ไก่ยืนกรงที่สามารถให้ผลผลิตไข่ไก่ทั้งปี จำนวน 54 ล้านตัว ผลผลิตไข่ไก่ทั้งหมด 14,866 ล้านฟอง/ปี หรือเฉลี่ย 40 ล้านฟอง/วัน ปัจจุบัน (กันยายน 2555) ผลผลิตไข่ไก่เฉลี่ย 36.50 ล้านฟอง/วัน ปริมาณการบริโภคไข่ไก่ของคนไทยเฉลี่ย 32 ล้านฟอง/วัน ทำให้มีผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดประมาณ 4-5 ล้านฟอง/วัน

แนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด

1 ด้านปริมาณ เพื่อลดผลผลิตไข่ไก่ส่วนเกิน ขอสนับสนุนเงินจ่ายขาดจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชดเชยและจูงใจให้แก่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการรักษาเสถียรภาพราคาไก่ไข่ ดังนี้

1.1 ปลดไก่ไข่ให้เร็วขึ้นที่อายุไม่เกิน 65 สัปดาห์ มีเงื่อนไขต้องไม่นำไก่ไข่เข้าเลี้ยงภายใน 3 เดือน หลังจากปลดไก่ไข่ เป้าหมายดำเนินการ 2.58 ล้านตัว ภายใน 3 เดือน โดยจ่ายเงินชดเชยตัวละ 10 บาท เป็นเงิน 25.80 ล้านบาท

1.2. รวบรวมไข่ไก่ออกจากระบบ เป้าหมายจำนวน 195 ล้านฟอง ภายใน 6 เดือน โดยจ่ายเงินชดเชยการดำเนินงานฟองละ 50 สตางค์ เป็นเงิน 98 ล้านบาท

1.3 รณรงค์การบริโภคไข่ไก่ โดยกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ดำเนินการในพื้นที่แหล่งผลิตที่สำคัญเป็นเงิน 8 ล้านบาท

2 ด้านนโยบาย เพื่อบริหารจัดการระบบการผลิตไก่ไข่ให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภค โดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์บริหารจัดการไก่ไข่พันธุ์ให้มีปริมาณที่เหมาะสม สำหรับการรณรงค์บริโภคไข่ไก่ ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการและให้ สสส. ประชาสัมพันธ์คุณประโยชน์ของไข่ไก่ให้เกิดผลในวงกว้าง

จากปัญหาผลผลิตไข่ไก่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มจะล้นตลาดเนื่องจากไม่มีการจำกัดปริมาณการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่ จึงต้องหาตลาดรองรับผลผลิตไข่ไก่ส่วนเกิน ทั้งด้านการเพิ่มปริมาณบริโภคภายในประเทศและขยายตลาดส่งออก รวมถึงการบริหารจัดการระบบผลิตและการค้าไข่ไก่ให้เกิดความสมดุล และเป็นธรรมต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มีนาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ