สรุปรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวมปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 12, 2013 17:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวมปี 2555 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้

1. การจ้างงาน และรายได้

1.1 สถานการณ์ทั่วไปของการจ้างงานและรายได้: ในไตรมาส 4/2555 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ผู้มีงานทำ 39.6 ล้านคน โดยการจ้างงานภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.0 และอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.48 โดยมีจำนวน 190,245 คน ลดลงจากอัตราร้อยละ 0.63 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ตลอดทั้งปี 2555 อัตราการว่างงานเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 0.66 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ตลาดแรงงานในภาพรวมอยู่ในภาวะตึงตัวในกลุ่มแรงงานกึ่งทักษะหรือการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ แต่มีการผลิตกำลังแรงงานส่วนเกินในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและปริญญาตรี ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนตลอดปีเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 และค่าจ้างแรงงานแท้จริงเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 ส่วนหนึ่งเนื่องจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่เดือนเมษายน ขณะที่ผลิตภาพแรงงานตลอดปี 2555 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.2 ช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้แท้จริง

1.2 ประเด็นที่ต้องเร่งขับเคลื่อนกำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในช่วงปี 2556—2557 ได้แก่ (1) การเตรียมความพร้อมกำลังคนทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการแก้ไข/ปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนและครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ซึ่งในระยะสั้นต้องเร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างแรงงานในระยะยาว ทั้งในด้านการศึกษา ทักษะแรงงาน การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน การเพิ่มสัดส่วนแรงงานในระบบ (2) การมีกลไกที่จะดูแลผู้ที่จะได้รับผลกระทบกลุ่มอื่น เช่น ผู้ประกอบการ SMEs ที่จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แรงงานภาคเกษตรและผู้ประกอบการอิสระที่จะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

2. ด้านการศึกษา : การฟื้นฟูยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยในเวทีโลกต้องเร่งขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ เนื่องด้วยการศึกษาไทยถูกจัดอันดับอยู่ในตำแหน่งท้าย ๆ ของเวทีโลก อาทิ การประเมินผลสัมฤทธิ์วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติของนักเรียนชั้น ม.2 พ.ศ.2554 ต่ำกว่าในปี พ.ศ. 2550 โดยมีผลคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ 427 คะแนน อยู่ในอันดับ 28 และวิชาวิทยาศาสตร์ 851 คะแนน อยู่ในอันดับ 25 ขณะที่อันดับสถาบันอุดมศึกษาไทยยังเป็นรองประเทศในภูมิภาคเอเชีย แต่ดีกว่าประเทศอาเซียนอื่น ๆ เป็นรองแค่ประเทศสิงคโปร์

3. ด้านสุขภาพ : การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยรวมยังเพิ่มขึ้น การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.5 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงกว่าในไตรมาส 4/2554 เกือบ 3 เท่าตัว ภาพรวมในปี 2555 ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 16.8 โรคที่พบมากและมีอาการของโรครุนแรงขึ้น ได้แก่ โรคปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรคมือ เท้า ปากในส่วนการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 จากปี 2554 โดยพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตมากที่สุด

4. ด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทย มีประเด็นเฝ้าระวังหลายด้าน ได้แก่

4.1 พ่อแม่และเพื่อนมีอิทธิพลต่อการเริ่มดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชน ผลการสำรวจสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครอบครัวไทยกลุ่มชานเมืองในกลุ่มเด็ก ป. 2-6 พบว่า เด็กร้อยละ 55 เริ่มหัดดื่มและรู้จักเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งแรกตอน ป.2 และพบพ่อแม่มีอิทธิพลหรือหยิบยื่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กมากที่สุด เช่นเดียวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ จากผลการสำรวจปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในระยะเริ่มต้นของนักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นพบว่า มีอัตราการสูบบุหรี่ร้อยละ 38.76 ร้อยละ 62.60 เริ่มสูบบุหรี่ตอนอายุ 9-12 ปี ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.76 มีผู้ปกครองสูบบุหรี่ และร้อยละ 45.86 มีเพื่อนสนิทสูบบุหรี่

4.2 สภาพครอบครัวมีความใกล้ชิดกันน้อยลงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงสื่อที่มีเนื้อหาทางเพศที่ไม่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งความรู้เกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ยังมีน้อย ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงมากขึ้น ทั้งอายุเฉลี่ยในการมีเพศสัมพันธ์น้อยลง และการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นแม่วัยใส ทำแท้ง และการทอดทิ้งเด็กทารกเพิ่มขึ้น ผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อ HIV ในประชากรกลุ่มนักเรียน พบเด็กไทยมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น ในปี 2554 เด็กเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตอนอายุเฉลี่ย 12 ปีและส่วนใหญ่เป็นความสมัครใจ แต่กว่าร้อยละ 50 ไม่มีการป้องกัน อีกทั้ง ยังพบว่าการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นไทยในปี 2554 มีแม่อายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 114,001 คน หรือร้อยละ 14.32 ของแม่ทุกอายุ มีแม่อายุน้อยที่สุด 8 ปี ในขณะที่พ่ออายุน้อยที่สุด 10 ปี

4.3 ครัวเรือนเสี่ยงเป็นหนี้ซ้ำซ้อน และเป็นหนี้มากกว่าออม ครัวเรือนมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบุคคลมีมูลค่า 2,914,288 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 เป็นการเพิ่มขึ้นมากในสินเชื่อซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อเพื่อบริโภคส่วนบุคคลอื่นร้อยละ 33.9 และ 29.4 ตามลำดับ ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้ยังอยู่ในระดับสูง เห็นได้จากการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนของสินเชื่อภายใต้การกำกับ และสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1 และ 3.2 ตามลำดับ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 จากข้อมูลปี 2554 พบว่า ครัวเรือนมีการออมต่ำเพียงร้อยละ 5.3 ของ GDP และจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2554 พบว่ามีครัวเรือน 9.09 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 45 ของครัวเรือนทั่วประเทศ ที่ไม่มีความสามารถในการออม

5. ด้านความมั่นคงทางสังคม: มีประเด็นเฝ้าระวัง ได้แก่

5.1 คดีอาญารวมเพิ่มสูงทุกประเภท โดยคดียาเสพติดมีสัดส่วนมากสุดร้อยละ 83.9 รับแจ้ง 100,401 คดี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2554 ร้อยละ 17.1 และ 12.3 ทั้งปี 2555 คดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 อีกทั้งยังพบว่าเด็กและเยาวชนยังคงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการค้ายาเสพติด โดยนักค้ายาเสพติดกระจาย ยาเสพติดลงในพื้นที่ชุมชน จากข้อมูลในระบบติดตามและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด ในปี 2555 กลุ่มผู้เข้ารับการบำบัดรักษามากสุดร้อยละ 35.5 อยู่ในช่วงอายุ 18-24 ปี และกลุ่มอายุ 12-17 ปีถูกส่งเข้ารับการบำบัดรักษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.3 จากในปี 2554 สาเหตุอันดับแรกมาจากการทดลองร้อยละ 46.1

5.2 การคุ้มครองทางสังคมมีความครอบคลุมมากขึ้น หากยังมีปัญหาความลักลั่นและไม่เป็นธรรม การประกันสังคมครอบคลุมแรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 11.7 ล้านคนในปี 2555 หรือร้อยละ 29.7 ของกำลังแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบเพิ่มกว่า 7 แสนคน แต่มีปัญหาลักลั่นในการจ่ายเงินชดเชยกรณีชราภาพ 600 บาท ให้ผู้ประกันตนกว่า 1 แสนคน ใกล้เคียงกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การขยายความครอบคลุมหลักประกันด้านสุขภาพร้อยละ 99.9 ของประชากรผู้มีสิทธิ ขณะที่มีการบูรณาการ 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการมาตรฐานเดียวกัน แต่ไม่มีความชัดเจนถึงความแตกต่างเรื่องสิทธิประโยชน์ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีการร่วมจ่ายในกลุ่มประกันสังคม

6. เรื่องเด่นประจำฉบับ “การกระทำรุนแรงในเด็กและสตรี.....สิทธิที่ต้องเร่งคุ้มครอง”

6.1ความรุนแรงในเด็กและสตรียังเป็นปัญหาสำคัญ ในปี 2554 มีผู้มารับบริการศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มขึ้นเป็น 22,565 ราย เฉลี่ย 62 รายต่อวัน จาก 11,242 ราย เฉลี่ย 32 รายในปี 2548 โดยสัดส่วนเด็กต่อสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงเป็น 51:49

6.2 เด็กถูกกระทำรุนแรงทางเพศมากที่สุด เด็กหญิงถูกทำร้าย 8 เท่าของเด็กชายส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยรุ่นอายุ 10-15 ปี เป็นการกระทำรุนแรงทางเพศมากที่สุดถึงร้อยละ 74.1 โดยผู้กระทำรุนแรงส่วนใหญ่เป็นแฟนร้อยละ 40.2 โดยสาเหตุที่เกิดส่วนใหญ่มาจากสภาพแวดล้อม เช่น สื่อลามกต่างๆ ความใกล้ชิด และโอกาสเอื้ออำนวย การใช้สารกระตุ้น ความรุนแรงในโรงเรียนจากการทำโทษอย่างรุนแรงของครู แก๊งอันธพาล และล่วงละเมิดทางเพศ

6.3 ผู้หญิงเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ โดยผู้หญิงจะถูกกระทำรุนแรงในช่วงอายุ 25-45 ปี มากที่สุด ถูกกระทำรุนแรงทางกายร้อยละ 74.6 จากคู่สมรส/แฟนร้อยละ 65.6 สาเหตุมาจากการสัมพันธภาพในครอบครัว เช่น การนอกใจ หึงหวง ทะเลาะร้อยละ 40.7 รูปแบบความรุนแรง ได้แก่ การทุบตี ฆ่า ด่าทอ ความรุนแรงทางเพศ และถ่ายคลิปข่มขู่คุกคาม

6.4 แนวทางการแก้ไขปัญหาการกระทำความรุนแรงในเด็กและสตรี ในระยะเร่งด่วน ได้แก่ การปรับระบบบริการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวกและทั่วถึง โดยเน้นบูรณาการความช่วยเหลือในลักษณะครบวงจร และดำเนินงานโดยทีมสหวิชาชีพ ในระยะยาว เน้นการป้องกัน ได้แก่ (1) การสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่น (2) การรณรงค์ให้ความรู้ สร้างความตระหนัก โดยใช้สื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลศูนย์ที่ให้บริการความช่วยเหลือ และ (3) การปรับปรุงการบันทึกและจัดทำฐานข้อมูลเด็กและสตรี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้ด้อยโอกาสในระดับพื้นที่

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มีนาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ