ผลการสำรวจโครงการชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน ตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย(มกราคม พ.ศ. 2556)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 20, 2013 09:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการสำรวจโครงการชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน ตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย (มกราคม พ.ศ. 2556) ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน ตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 — 31 มกราคม 2556 โดยนำร่องในพื้นที่เป้าหมาย 9 ภาคของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้แก่ภาค 1 : อยุธยา ภาค 2 : ชลบุรี ภาค 3 นครราชสีมา ภาค 4 : ขอนแก่น ภาค 5 : เชียงใหม่ ภาค 6 : พิษณุโลก ภาค 7 : นครปฐม ภาค 8 : สุราษฎร์ธานี ภาค 9 : สงขลา ในการนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ทำการสำรวจโครงการชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน ตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย (มกราคม พ.ศ. 2556) เพื่อติดตาม ประเมินผลสภาพปัญหา และสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติด รวมทั้งผลการดำเนินงานโครงการชุมชนอุ่นใจฯ เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการติดตาม ปรับปรุง และประเมินผลการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อใช้เป็นต้นแบบทั่วประเทศ โดยทำการสำรวจประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมาย ซึ่งมีประชาชนที่ถูกเลือกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 2,418 ราย และเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1 — 21 มกราคม 2556 ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ประชาชนร้อยละ 18.5 ระบุว่าปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดมีความรุนแรง — รุนแรงมากที่สุด และค่อนข้างรุนแรง (ร้อยละ 22.3) ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยรุนแรง — ไม่รุนแรงมีร้อยละ 59.2 โดยจังหวัดสงขลามีการแพร่ระบาดยาเสพติดรุนแรง — รุนแรงมากที่สุด (ร้อยละ 38.3) รองลงมาได้แก่ ชลบุรี (ร้อยละ 31.0) เชียงใหม่ (ร้อยละ 26.0) และสุราษฎร์ธานี (ร้อยละ 24.3) ขณะที่จังหวัดอื่นมีประมาณร้อยละ 10 - 12 ส่วนนครปฐมมีร้อยละ 4.9

2. ประชาชนร้อยละ 56.0 ระบุว่าปัญหาด้านผู้ค้า/ผู้ลักลอบค้ายาเสพติด มีลดลงเมื่อเทียบกับก่อนดำเนินโครงการชุมชนอุ่นใจฯ ส่วนผู้ที่เห็นว่าเพิ่มขึ้นมีไม่มากนัก (ร้อยละ 5.4) และร้อยละ 14.6 เห็นว่าปัญหายังเท่าเดิม แต่ก็มีผู้ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจร้อยละ 24.0 สำหรับจังหวัดที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นพบในจังหวัดพิษณุโลกมากที่สุด (ร้อยละ 17.2) รองลงมาได้แก่ สงขลา (ร้อยละ 13.5) และชลบุรี (ร้อยละ 8.8) ขณะที่จังหวัดอื่น มีประมาณร้อยละ 2 — 5 ส่วนขอนแก่นมีร้อยละ 0.3

3. ประชาชนร้อยละ 55.4 ระบุว่าปัญหาด้านผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดมีลดลง เมื่อเทียบกับก่อนดำเนินโครงการชุมชนอุ่นใจฯ ส่วนผู้ที่เห็นว่าเพิ่มขึ้นมีไม่มากนัก (ร้อยละ 6.8) และ ร้อยละ 15.9 เห็นว่าปัญหายังเท่าเดิม แต่ก็มีผู้ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจร้อยละ 21.9 สำหรับจังหวัดที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นพบในจังหวัดสงขลามากที่สุด(ร้อยละ 19.5) รองลงมาได้แก่ พิษณุโลก (ร้อยละ 15.6) และชลบุรี (ร้อยละ 15.4) ขณะที่จังหวัดอื่นมีไม่เกินร้อยละ 5 นอกจากนี้ยังมีผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ดังนี้

1) ประชาชนร้อยละ 49.6 ระบุว่าผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดที่ได้เข้ารับการบำบัดรักษา มีลดลงเมื่อเทียบกับก่อนดำเนินโครงการชุมชนอุ่นใจฯ ส่วนผู้ที่ระบุว่าเพิ่มขึ้นมีไม่มากนัก (ร้อยละ 5.4) และร้อยละ 13.2 ระบุว่าปัญหายังอยู่เท่าเดิม แต่ก็มีผู้ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจร้อยละ 31.8 สำหรับจังหวัดที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นพบในจังหวัดสงขลามากที่สุด (ร้อยละ 17.3) รองลงมาได้แก่ พิษณุโลก (ร้อยละ 10.0) และชลบุรี (ร้อยละ 10.0) ขณะที่จังหวัดอื่นมีประมาณร้อยละ 2 - 4

2) ประชาชนร้อยละ 33.4 ระบุว่ามีผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการประสาทหลอน คุ้มคลั่ง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเกิดขึ้น ซึ่งในจำนวนนี้มีเกิดขึ้นมาก — มากที่สุด (ร้อยละ 1.7) ปานกลาง (ร้อยละ 7.5) และน้อย — น้อยที่สุด (ร้อยละ 24.2) สำหรับจังหวัดที่มีปัญหาเกิดขึ้นมาก — มากที่สุดพบในจังหวัดสงขลา (ร้อยละ 6.1) รองลงมาได้แก่ พิษณุโลก (ร้อยละ 4.8) และชลบุรี (ร้อยละ 2.9) ส่วนจังหวัดอื่นมีไม่เกินร้อยละ 2

3) ประชาชนร้อยละ 44.4 ระบุว่ามีคนเร่ร่อนที่เสพยาเสพติดเกิดขึ้น ซึ่งในจำนวนนี้มีเกิดขึ้นมาก — มากที่สุด (ร้อยละ 3.2) ปานกลาง (ร้อยละ 9.7) และน้อย — น้อยที่สุด (ร้อยละ 31.5) สำหรับจังหวัดที่มีปัญหาเกิดขึ้นมาก — มากที่สุดพบในจังหวัดสงขลา (ร้อยละ 7.6) รองลงมาได้แก่ ชลบุรี (ร้อยละ 6.6) และพิษณุโลก (ร้อยละ 5.6) ส่วนจังหวัดอื่นมีไม่เกินร้อยละ 4

4. ชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ ที่มีโรงเรียน/สถานศึกษา ประชาชนร้อยละ 47.2 ระบุว่าปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดมีลดลงเมื่อเทียบกับก่อนการดำเนินโครงการชุมชนอุ่นใจฯ ส่วนผู้ที่ระบุว่าเพิ่มขึ้นมีไม่มากนัก (ร้อยละ 4.6) และร้อยละ 10.9 ระบุว่าปัญหายังอยู่เท่าเดิม แต่ก็มีผู้ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจร้อยละ 37.3 สำหรับจังหวัดที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นพบในจังหวัดพิษณุโลกมากกว่าจังหวัดอื่น (ร้อยละ 11.2) รองลงมาได้แก่ ชลบุรี (ร้อยละ 8.2) และสงขลา (ร้อยละ 7.9) ขณะที่จังหวัดอื่นมีไม่เกินร้อยละ 6

5. ประชาชนร้อยละ 85.4 ระบุว่ามีกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งในจำนวนนี้ได้แก่ ผู้เคยเสพยาเสพติด (ร้อยละ 83.4) ผู้ที่เคยถูกจับกุม/ผู้ต้องหา (ร้อยละ 52.3) และผู้ที่เคยค้ายาเสพติด (ร้อยละ 40.0) เป็นต้น

6. ประชาชนร้อยละ 45.7 ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐสนับสนุน/เข้าไปกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งในจำนวนนี้มีเกิดขึ้นมาก — มากที่สุด (ร้อยละ 9.2) ปานกลาง (ร้อยละ 14.6) และน้อย — น้อยที่สุด (ร้อยละ 21.9) สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำเนินการดังกล่าวพบในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมากที่สุด (ร้อยละ 60.9) รองลงมาได้แก่ สงขลา (ร้อยละ 55.6) ชลบุรี (ร้อยละ 55.5) และพิษณุโลก (ร้อยละ 54.4) ขณะที่จังหวัดอื่นมีประมาณร้อยละ 35 — 44 ส่วนอยุธยาเกิดขึ้นน้อยกว่าจังหวัดอื่น (ร้อยละ 26.8)

7. ประชาชนสูงถึงร้อยละ 99.7 มีความพึงพอใจต่อโครงการชุมชนอุ่นใจฯ ซึ่งในจำนวนนี้มีความพึงพอใจมาก — มากที่สุดร้อยละ 83.9 ปานกลางร้อยละ 12.3 และน้อยร้อยละ 3.5 โดยจังหวัดขอนแก่น และอยุธยามีความพึงพอใจมาก — มากที่สุดสูงกว่าจังหวัดอื่น คือ ร้อยละ 96.3 และ 90.3 ตามลำดับ ขณะที่จังหวัดอื่นมีประมาณร้อยละ 76 — 88

8. ประชาชนร้อยละ 99.3 มีความเชื่อมั่นต่อโครงการชุมชนอุ่นใจฯว่าจะสามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนาคตได้ ซึ่งในจำนวนนี้มีความเชื่อมั่นมาก — มากที่สุดร้อยละ 79.6 ปานกลางร้อยละ 15.5 และน้อยร้อยละ 4.2 โดยจังหวัดขอนแก่นมีความเชื่อมั่นมาก — มากที่สุดสูงกว่าจังหวัดอื่น (ร้อยละ 95.9) รองลงมา ได้แก่ อยุธยา (ร้อยละ 83.2) ชลบุรี (ร้อยละ 82.4) และพิษณุโลก (ร้อยละ 80.0) ขณะที่จังหวัดอื่นมีประมาณร้อยละ 71 — 78 ส่วนจังหวัดสงขลามีร้อยละ 68.4

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มีนาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ