1. อนุมัติบทว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยเป็นบทเพิ่มเติมในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553 — 2557
2. เห็นชอบมอบหมายให้กระทรวง กรม องค์กรและหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่น ๆ ถือปฏิบัติตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553 — 2557 “บทว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย” อีกบทหนึ่ง
สาระสำคัญของร่างแผนหลักการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553 — 2557 “บทว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย” สรุปได้ดังนี้
1. หลักการและเหตุผล ภายหลังเหตุการณ์มหาวิกฤติอุทกภัยเมื่อปี 2554 ซึ่งได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมหาศาล การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจำเป็นต้องอาศัยการประสานความร่วมมือของแต่ละหน่วยงานในการบริหารในภาวะวิกฤติที่เป็นระบบเดียวกัน (Single Command) จึงจะทำให้การจัดการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) จึงได้ใช้อำนาจตามมาตรา 7 และมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ให้มีการปรับปรุงแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553 — 2557 ด้วยการเพิ่มเติม“บทว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย”
2. วัตถุประสงค์ เพื่อบูรณาการแผนงานและการปฏิบัติการของหน่วยงานของรัฐ การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมีองค์กรรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยที่เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติงานการบริหารจัดการน้ำ การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำและอุทกภัย เพื่อให้การกำหนดแนวทางการทำงาน การสั่งการ และการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วมีความสอดคล้องเป็นเอกภาพเดียวกันในการอำนวยการ และบริหารจัดการทุกพื้นที่ให้เป็นแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและสามารถแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
3. การจัดตั้งองค์กรปฏิบัติ ให้จัดตั้งองค์กรปฏิบัติที่รับผิดชอบการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากน้ำและอุทกภัย ดังนี้
3.1 กนอช. มีหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำ การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้เป็นไปอย่างมีระบบเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปปฏิบัติ
3.2 กบอ. มีหน้าที่จัดทำแผนปฏิบัติการและดำเนินการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยตามนโยบายของ กนอช. กำหนดวิธีดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำและอุทกภัยเป็นไปโดยเหมาะสมและสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการ รวมทั้งการดำเนินการอื่นเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำ การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย
3.3 สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) มีหน้าที่ ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ สภาพน้ำในลุ่มน้ำและเขื่อนหรือที่กักเก็บน้ำ สภาพพื้นที่บริเวณที่น้ำไหลผ่านแนวทางการเตือนภัย เพื่อการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย และการเตรียมการช่วยเหลือประชาชน
3.4 บก.ปภ.ช. รับผิดชอบบังคับบัญชา อำนวยการ วินิจฉัยสั่งการ ควบคุมและประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการสาธารณภัย ตามความรุนแรงระดับ 3 (อุทกภัยขนาดใหญ่) และ ระดับ 4 (อุทกภัยขนาดร้ายแรงอย่างยิ่ง)
3.5 ศอร.ปภ.ช. รับผิดชอบประสานงานและบูรณาการข้อมูลและการปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาวะปกติ ภาวระใกล้เกิดภัย และภาวะเกิดภัย กรณีความรุนแรงของสาธารณภัย ระดับ 1 (อุทกภัยขนาดเล็ก) และระดับ 2 (อุทกภัยขนาดกลาง)
3.6 กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (องค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาล/ เมืองพัทยา/อำเภอ/สำนักงานเขต/จังหวัด/กรุงเทพมหานคร) รับผิดชอบการอำนวยการ ควบคุม ปฏิบัติงาน และประสานการปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ
3.7 ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า เป็นส่วนหน้าระดับจังหวัดที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานตามการบัญชาการเหตุการณ์จากกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) เมื่อมีการยกระดับความรุนแรงของสาธารณภัยเป็นระดับ 3 และระดับ 4
4. การเชื่อมโยงกลไกการจัดการสาธารณภัยขององค์กรภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 กับองค์บริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ ได้แก่ กปภ.ช. กนอช.ซ และ กบอ.
5. ขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการปฏิบัติงานขององค์กรปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ตามระดับความรุนแรงของภัยที่เกิดขึ้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มีนาคม 2556--จบ--