รายงานสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี พ. ศ. 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 27, 2013 11:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี พ. ศ. 2555 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ( พม. ) เสนอ

สาระสำคัญของสถานการณ์การค้ามนุษย์ สรุปได้ดังนี้

ประเทศไทยยังคงมีสถานะของการค้ามนุษย์ 3 สถานะ คือ ประเทศต้นทาง หมายถึง การเป็นประเทศที่มีการส่งเด็กและหญิงไปค้าต่างประเทศ ประเทศทางผ่าน หมายถึง การเป็นประเทศที่ใช้เป็นเส้นทางผ่านของการนำเด็กและหญิงไปค้าในประเทศอื่น และประเทศปลายทาง หมายถึง การเป็นประเทศที่มีการนำเด็กและหญิงเข้ามาค้าหรือแสวงหาประโยชน์หรือมีการล่วงละเมิดสิทธิซึ่งประเทศไทยมีกรอบในการดำเนินงานของหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วยการใช้หลักการทำงานแบบสหวิชาชีพ ประกอบด้วย การป้องกัน การดำเนินคดี การคุ้มครองช่วยเหลือ และนโยบายการขับเคลื่อน นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อสกัดกั้นขบวนการค้ามนุษย์และเพิ่มความร่วมมือกับผู้เสียหายในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงได้กำหนดให้การต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นวาระของประเทศ เพราะเห็นว่าการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในรูปแบบต่าง ๆ เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยประเทศไทยยังเคารพและปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนรวมทั้งพันธกรณีต่าง ๆ และเห็นความสำคัญของแรงงานที่ทำงานในทุกภาคการผลิตซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะแรงงานไทยไร้ฝีมือทั้งที่ทำงานในต่างประเทศและในประเทศ และแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือที่ทำงานในประเทศไทย จึงเร่งรัดให้มีการป้องกันและปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยใช้หลักนิติธรรมเป็นหลักประกันความมั่นคงว่า ทุกกลุ่มที่มีความเสี่ยงหรือความเปราะบางจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

ประเทศไทยมีนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2554 — 2559 เป็นกรอบในการดำเนินงานของหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษยื ด้วยการใช้หลักการการทำงานแบบสหวิชาชีพและหลักการ 5Ps ซึ่งประกอบด้วย ด้านการป้องกัน (Prevention) การดำเนินคดี (Prosecution) การคุ้มครองช่วยเหลือ ( Protection) นโยบายและการขับเคลื่อน (Policy) และหุ้นส่วนความร่วมมือ ( Partnership) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 โดยในแต่ละปีจะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีร่วมกัน เพื่อให้เกิดการประสานการปฏิบัติให้ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และป้องกันมิให้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้เป็นเครือข่ายการเฝ้าระวังและต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 เห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี พ. ศ. 2555 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 102,274,280 บาท และหน่วยงานราชการ รวมทั้งองค์การเอกชนที่จดทะเบียนเป็นองค์กรป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ได้ขอใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อดำเนินกิจการทั้งด้านการป้องกัน การดำเนินคดี และการคุ้มครองช่วยเหลือ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 10,997,077 บาท

สำหรับแนวทางการดำเนินงานในอนาคต ประเทศไทยมีความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อสกัดกั้นขบวนการค้ามนุษย์และเพิ่มความร่วมมือกับผู้เสียหายในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ดังนั้น จึงมีแนวทางดำเนินงานต่อไป ดังนี้

1. เร่งรัดการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบประมง

2. เสริมสร้างศักยภาพการบังคับใช้กฎหมายและความเชี่ยวชาญในการดำเนินคดีให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง

3. เพิ่มประสิทธิภาพในการสืบสวนสอบสวน ขยายผลปราบปรามและจับกุมขนวนการค้ามนุษย์

4. เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดบริการทางสังคม รวมทั้งพัฒนากระบวนการส่งกลับและการคืนสู่สังคม

5. เสริมสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังจากทุกภาคส่วนและในทุกระดับเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ

6. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อกำหนดมาตรการและวิธีการในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ให้ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต

7. พัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มีนาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ