การให้สัตยาบันความตกลงอาเซียนด้านศุลกากร (ASEAN Agreement on Customs)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 27, 2013 11:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการให้สัตยาบันความตกลงอาเซียนด้านศุลกากร ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า

สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 มกราคม 2555 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในความตกลงอาเซียนด้านศุลกากรแล้ว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยสาระสำคัญของความตกลงฯ ดังกล่าวสรุปได้ ดังนี้

1. วัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านศุลกากรของประเทศสมาชิกอาเซียน ส่งเสริมให้มีการจัดทำกระบวนการทางศุลกากร พิธีการศุลกากร วิธีปฏิบัติในการควบคุมทางศุลกากร รวมถึงการจัดการเคลื่อนย้ายสินค้าและยานพาหนะให้เรียบง่าย สอดคล้องกัน และทันสมัย ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนบรรลุการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายใต้เป้าหมายของการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

2. หลักการ รัฐสมาชิกทั้งหลายจะได้รับการกำหนดแนวทางตามหลักการต่อไปนี้

(1) ความสม่ำเสมอ : รัฐสมาชิกทั้งหลายต้องทำให้แน่ใจว่ามีความสอดคล้องอย่างต่อเนื่องในการใช้กฎหมายศุลกากร และกระบวนการบริหารจัดการภายในรัฐสมาชิกแต่ละรัฐ

(2) ความมีประสิทธิภาพ : รัฐสมาชิกทั้งหลายต้องทำให้แน่ใจว่ามีการบริหารจัดการกฎเกณฑ์ทางศุลกากร กระบวนการ และการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าและยานพาหนะในอาเซียนด้วยวิธีการที่เหมาะสมที่สุด

(3) ความเรียบง่าย : รัฐสมาชิกทั้งหลายต้องทำให้แน่ใจว่ามีการทำกระบวนการ พิธีการ และการปฏิบัติทางศุลกากรให้เรียบง่ายอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างอิงสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และการปฏิบัติที่เป็นเลิศที่เกี่ยวข้อง

(4) ความโปร่งใส : รัฐสมาชิกทั้งหลายต้องจัดทำกฎหมายและการบริหารจัดการกระบวนการเกี่ยวกับศุลกากรให้สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงได้อย่างทันท่วงที ยกเว้นแนวทางการปฏิบัติภายใน

(5) การปรึกษาหารือ : รัฐสมาชิกทั้งหลายต้องพยายามจัดให้มีการปรึกษาหารือกับภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ตามความตกลงนี้

(6) การอุทธรณ์ : รัฐสมาชิกทั้งหลายต้องทำให้แน่ใจว่ามีความพร้อมต่อการเข้าถึงวิธีการในการทบทวนคำวินิจฉัยทางศุลกากรอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้

(7) การให้การช่วยเหลือและให้ความร่วมมือระหว่างกัน : รัฐสมาชิกทั้งหลายต้องพยายามให้ความร่วมมือและให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงานศุลกากรอย่างเต็มที่

3. ขอบเขตของความตกลง

(1) บทบัญญัติของความตกลงนี้ต้องนำไปใช้กับสินค้าที่นำเข้า ส่งออก ขนส่งผ่าน หรือถ่ายลำผ่านอาณาเขตของรัฐสมาชิกทั้งหลาย ตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของรัฐสมาชิกทั้งหลาย

(2) ไม่มีบทบัญญัติใดของความตกลงนี้ที่ขัดขวางรัฐสมาชิกรัฐหนึ่งรัฐใดในการอำนวยความสะดวกเกินไปกว่าที่กำหนดไว้ในความตกลงนี้ รัฐสมาชิกทั้งหลายต้องพยายามให้ความสะดวกอย่างครอบคลุมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มีนาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ