รายงานการเตรียมพร้อมต่อการหยุดซ่อมบำรุงของแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติยาดานาในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 27, 2013 11:45 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานการเตรียมพร้อมต่อการหยุดซ่อมบำรุงของแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติยาดานา

ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน 2556

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานการเตรียมพร้อมต่อการหยุดซ่อมบำรุงของแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติยาดานาในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน 2556 ตามที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการหยุดส่งก๊าซธรรมชาติจากสหภาพเมียนมาร์ และรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ดังนี้

1. การเตรียมเชื้อเพลิงสำรอง คือ น้ำมันเตา และน้ำมันดีเซลเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติ กระทรวงพลังงานได้เร่งรัดให้จัดส่งน้ำมันเตาให้เต็มคลังสำรองก่อนการหยุดจ่ายก๊าซที่โรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันได้จัดทำแผนการจัดส่งน้ำมันเตาและดีเซลในระหว่างการหยุดซ่อมบำรุงเพื่อให้เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงการบริหารปริมาณสำรองหลังสิ้นสุดการหยุดซ่อมบำรุงให้อยู่ในระดับมาตรฐานเพื่อเตรียมการรองรับในกรณีที่การหยุดซ่อมล่าช้ากว่ากำหนด

2. การเตรียมพร้อมของโรงไฟฟ้า กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้มีการทดสอบการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงสำรองของโรงไฟฟ้าที่ต้องมีการใช้ดีเซลเป็นเชื้อเพลิง และให้ทุกโรงไฟฟ้างดเว้นการหยุดซ่อมบำรุงในช่วงการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ พร้อมกับได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer : SPP) เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 110 เมกกะวัตต์

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการประสานงานกับผู้ขออนุญาตผลิตพลังงานควบคุมตามพระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พ.ศ. 2535 ที่เป็นการผลิตไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน (Standby Generator) โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกับผู้ขออนุญาตรายใหญ่ จำนวน 27 ราย ที่มีกำลังการผลิต รวม 180 เมกกะวัตต์

3. กระทรวงพลังงานได้ประสานแจ้งไปยังผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมขอไม่ให้มีการหยุดซ่อมบำรุงในช่วงเวลาดังกล่าว

4. การขอความร่วมมือกับภาคเอกชนลดใช้ไฟฟ้าในช่วงการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ กระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยลดใช้ไฟฟ้า และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยสมาชิกในกลุ่มของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะลดการใช้ไฟฟ้าลงประมาณ 408 เมกกะวัตต์ และในกลุ่มของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะลดใช้ไฟฟ้าลงประมาณ 83 เมกกะวัตต์ ซึ่งเมื่อรวมกับการลดใช้ไฟฟ้าจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ที่ใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบ Interruptible Rate 4 แห่งคือ โรงงานไทยอาซาฮี โรงงานปูนซิเมนต์นครหลวง ( 2 แห่ง ) และโรงปูนซิเมนต์ทีพีไอ ที่มีกำลังการใช้ไฟฟ้ารวม 56 เมกกะวัตต์ จะทำให้สามารถลดใช้ไฟฟ้าลงได้ทั้งสิ้น 547 เมกกะวัตต์

การรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้ประหยัดพลังงาน กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนงานการสร้างความเข้าใจกับประชาชน 3 ช่วง คือ ช่วงก่อน ระหว่าง และหลังสถานการณ์ฉุกเฉินและได้จัดทำแผนการสื่อสาร (Media Plan) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลสู่ประชาชน และได้เตรียมการจัดกิจกรรมรณรงค์ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 4 เมษายน 2556 โดยได้กราบเรียนเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ทั้งนี้ การประหยัดพลังงานในภาคราชการ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมาย ได้กำหนดมาตรการรณรงค์ติดตามและตรวจสอบการลดใช้พลังงานในภาคราชการ เพื่อเป็นแนวทางและตัวอย่างด้านการประหยัดพลังงานที่ดีต่อประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน ประจำปี 2556 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2556 โดยมีหน่วยงานในกำกับและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมซ้อมแผนฯ ที่ใช้เหตุการณ์หยุดซ่อมบำรุงฯ ระหว่างวันที่ 5 — 14 เมษายน 2556 เป็นเหตุการณ์สมมติพื้นฐานและเพิ่มเหตุการณ์ซ้ำซ้อนเพื่อเป็นแนวทางการซ้อมแผนฯ ซึ่งผลจากการซ้อมแผนฯ ทำให้เกิดความเข้าใจ แนวทางปฏิบัติ วิธีการแก้ไขปัญหา และการสื่อสารประชาสัมพันธ์กับประชาชน

ผลจากการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานเพื่อเตรียมพร้อมต่อการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติตามข้างต้นจะสามารถทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 1,424 เมกกะวัตต์ ซึ่งทำให้ระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มีนาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ