ผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 2/2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 1, 2013 10:14 —มติคณะรัฐมนตรี

1. รับทราบผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2556 ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา

2. เห็นชอบตามมติที่ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 2/2556 ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 2/2556

ในวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2556 เวลา 17.20 — 19.10 น. ณ ห้องประชุมโชคอนันต์ ชั้น 2 อาคารเรียนรวมและอำนวยการ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีรายละเอียดข้อเสนอเพื่อพิจารณาของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย รวม 4 ด้าน 17 เรื่อง สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. การส่งเสริมการค้าและการลงทุน (เสนอโดย กกร.)

1.1 ข้อเสนอ

1) ขอรับการสนับสนุนโครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบ้านป่าไร่ จังหวัดสระแก้ว โดยกำหนดรูปแบบและสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับกรอบความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา- แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษและการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมชายแดน โดยเน้นให้ประเทศสมาชิก ACMECS เป็น “ฐานการผลิตเดียว”

2) ขอรับการสนับสนุนโครงการ Eco Industrial Town จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดปราจีนบุรี โดย (1) ประชาสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย (2) อบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในเรื่อง Eco Industrial Town และ (3) ขอให้มีการศึกษารูปแบบของ Eco Industrial Town ที่เหมาะสมกับภูมิสังคมของพื้นที่เป้าหมาย

3) ขอให้เร่งรัดโครงการย้ายตลาดสะพานปลากรุงเทพ (ยานนาวา) ไปตั้งที่ปากน้ำสมุทรปราการ ภายในปี 2556 เพื่อลดความแออัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง

4) ขอรับการสนับสนุนโครงการจัดตั้งสถาบันมะม่วงแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาสายพันธุ์มะม่วง ส่งเสริมการผลิต การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการพัฒนาด้านตลาดอย่างครบวงจร

1.2 มติที่ประชุม

1) เห็นควรให้มีการศึกษาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยให้พิจารณาข้อเสนอการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบ้านป่าไร่ จังหวัดสระแก้ว เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาดังกล่าวด้วย

2) มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับไปพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารูปแบบการจัดทำเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม (จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด) โดยให้คำนึงถึงการจำกัดการพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานในพื้นที่อย่างเข้มงวด สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ (จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดปราจีนบุรี) ให้พิจารณาจัดทำแผนการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

3) มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ร่วมกับกระทรวงทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้รองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) เป็นที่ปรึกษาทำการศึกษาความเหมาะสม ความจำเป็น และความเป็นไปได้ในการพัฒนาสะพานปลาในภาพรวมทั้งหมด รวมถึงการย้ายหรือพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ และพิจารณาใช้ประโยชน์จากสะพานปลาจังหวัดสมุทรปราการทั้งระบบเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

4) มอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา และมหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา รับไปศึกษาโครงการจัดตั้งสถาบันมะม่วงแห่งประเทศไทย

2. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ (เสนอโดย กกร.)

2.1 ข้อเสนอ

1) ขอให้เร่งรัดโครงการพัฒนาโครงข่ายทางถนนเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยการขยายช่องจราจร และขอการสนับสนุนการปรับปรุงและก่อสร้างเส้นทาง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปี 2558 รวม 7 เส้นทาง ได้แก่ (1) ทางหลวงหมายเลข 331 ระยะทาง 11 กิโลเมตร (2) โครงการก่อสร้างปรับปรุงทางหลักหมายเลข 1 ระยะทางประมาณ 2.2 กิโลเมตร (3) โครงการก่อสร้างขยายทางรองหมายเลข 2 (4) สนับสนุนโครงการก่อสร้างทางแยกพร้อมสัญญาณไฟจราจรเข้าเส้นทางรองหมายเลข 2 (สุสานมูลนิธิปทุมรังษี) (5) โครงการก่อสร้างและขยายเส้นทางรองหมายเลข 3 (6) โครงการก่อสร้างและขยายเส้นทางรองหมายเลข 4 และ (7) โครงการก่อสร้างปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 314 (บางปะกง — ฉะเชิงเทรา) และขยายเส้นทางจราจร โดยเพิ่มช่องทางจราจรจากเดิม 6 ช่องจราจรเป็น 8 ช่องทางจราจร และปรับปรุงสะพานข้ามคลองลาดขวางบนทางหลวงหมายเลข 314 กิโลเมตรที่ 12

2) ขอให้เร่งรัดโครงการขยายเส้นทาง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 319 “หนองชะอม จังหวัดปราจีนบุรี - พนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา” จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่นและลดการเกิดอุบัติเหตุ

3) ขอรับการสนับสนุนการศึกษาการแก้ไขปัญหาการจราจรสู่จังหวัดนครนายก และภาคตะวันออก โดยศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 “รังสิต-นครนายก”

4) ขอรับการสนับสนุนโครงการศึกษาแนวทางการขยายเส้นทางไปยังด่านคลองลึก จังหวัดสระแก้ว เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรของรถบรรทุกขนส่งที่ผ่านจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก และรองรับการขยายตัวทางการค้าการขนส่งข้ามแดนจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ภายในปี 2558

5) ขอรับการสนับสนุนโครงการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าโมโนเรล จากสถานีรถไฟฟ้าบางปู — แอร์พอร์ทลิงค์ สุวรรณภูมิ โดยระบบการขนส่งมวลชนแบบระบบราง เพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหาการจราจร

2.2 มติที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม รับไปพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1) รับข้อเสนอการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายทางถนนในพื้นที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา รวม 7 เส้นทางให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปี 2558 ไปจัดลำดับความสำคัญของโครงการและขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งประสานกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเส้นทางถนนสายรองซึ่งอยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวทั้งภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรในพื้นที่ รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางแก่ประชาชนและการขนส่งสินค้า

2) รับข้อเสนอการเร่งรัดโครงการขยายเส้นทาง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 319 “หนองชะอม จังหวัดปราจีนบุรี - พนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา” จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจรไปพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการ และขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีตามขั้นตอนต่อไป

3) รับข้อเสนอการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 “รังสิต - นครนายก” ไปประกอบการศึกษาความเหมาะสมและขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีตามขั้นตอน ทั้งนี้ เห็นควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อประชาชน และทัศนียภาพในพื้นที่ รวมทั้งการคาดการณ์ปริมาณจราจรในอนาคตในกรณีที่มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเต็มรูปแบบในพื้นที่

4) รับข้อเสนอของภาคเอกชนไปประกอบการพิจารณาศึกษาความเหมาะสมของการสนับสนุนโครงการศึกษาแนวทางการขยายเส้นทางไปยังด่านคลองลึก จังหวัดสระแก้ว โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาจุดผ่านแดนบริเวณบ้านหนองเอี่ยน

5) เร่งประสานกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าโมโนเรล จากสถานีรถไฟฟ้าบางปู—แอร์พอร์ตลิงค์ สุวรรณภูมิ มีความสอดคล้องกับแนวทางพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

3. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (เสนอโดย กกร.)

3.1 ข้อเสนอ

ขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน (ปากน้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา - สมุทรปราการ) โดยในส่วนของจังหวัดสมุทรปราการ บริเวณพื้นที่ราบลุ่มที่เกิดการทับถมของดินตะกอนปากแม่น้ำ และตอนใต้ใกล้ชายฝั่งทะเลลักษณะที่เป็นดินเลน และในส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่คลองเจริญวัย — บ้านคลองสีล้ง — วัดหงษ์ทอง ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง ได้ประสบกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งยาวประมาณ 10 กิโลเมตร ทำให้ชุมชนบางส่วนต้องอพยพออกจากพื้นที่

3.2 มติที่ประชุม

มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) รับไปพิจารณาเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน (ปากน้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา - สมุทรปราการ) รวมทั้งดำเนินการศึกษาการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกทั้งระบบ และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

4. การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการสุขภาพ (เสนอโดย กกร./สทท.)

4.1 ข้อเสนอ

1) ขอรับการสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว “ขุนด่านแลนด์” (ถนน-สะพาน-ภูมิทัศน์) จังหวัดนครนายก โดยพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก

2) ขอให้เร่งรัดการพัฒนาพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงเกษตรที่สมบูรณ์

3) ขอให้แยกช่องทางการผ่านด่านชายแดนของนักท่องเที่ยวออกจากด่านการค้า โดย (1) ขอให้แยกเส้นทางการผ่านด่านชายแดนของนักท่องเที่ยวออกจากการค้าที่ด่านคลองลึก จังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีปริมาณที่หนาแน่น (2) ขอให้ปรับปรุงด่านการค้าที่สำคัญให้ได้คุณภาพและมาตรฐานสากล ทั้งในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริหารจัดการโดยเฉพาะบุคลากร และ (3) ขอให้ยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าที่มีอยู่ในสระแก้ว 2 แห่ง เพื่อให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรเพิ่ม คือ บ้านเขาดิน —กิโลเมตรที่ 13 ของพระตะบอง หรือจุดหนองปรือ - พนมมาลัย จังหวัดบันเตียเมียนเจย

4) ขอให้พัฒนาเส้นทางช่องบะระแนะ หรือช่องตากิ่ว ซึ่งอยู่ติดชายแดนกัมพูชา เพื่อให้เส้นทางท่องเที่ยวใหม่ให้กับอำเภอตาพระยา อาทิ เส้นทางแหล่งตัดหิน สระเพลง ศูนย์อพยพเก่า เกษตรผสมผสาน และแหล่งโบราณสถานยุคขอมอีกมาก

4.2 มติที่ประชุม

1) มอบหมายให้จังหวัดนครนายก ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการพัฒนาพื้นที่และการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก โดยให้มีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบของโครงการด้านเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อมรวมทั้งจัดทำแผนการบริหารจัดการโครงการและหน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของแผนงานและโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ

2) มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนและท้องถิ่น และบูรณาการแผนงาน/โครงการ รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ

3) มอบหมายกระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปศึกษาในรายละเอียดการแยกช่องทางการผ่านด่านชายแดนของนักท่องเที่ยวที่ด่านคลองลึก โดยให้คำนึงถึงการจัดระเบียบในด่านคลองลึกทั้งในส่วนของการค้าและการท่องเที่ยวให้เป็นระบบ รวมทั้งให้นำแนวทางการพัฒนายกระดับจุดผ่านแดนบ้านหนองเอี่ยนประกอบการพิจารณาด้วย

4) มอบหมายกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือกับฝ่ายกัมพูชา ภายใต้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ในการพิจารณายกระดับจุดผ่อนปรนทางการค้าที่ภาคเอกชนเสนอทั้ง 2 แห่ง

5. เรื่องอื่น ๆ รวม 3 เรื่อง ดังนี้

5.1 การอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวของท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต (เสนอโดย สทท.)

1) ข้อเสนอ

ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความแออัดของท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต โดย (1) เพิ่มช่องทางตรวจลงตราสำหรับผู้โดยสารบริเวณภายนอกท่าอากาศยาน (2) เพิ่มเครื่องตรวจสอบสัมภาระ และ (3) เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2) มติที่ประชุม

มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งรัดดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวโดยเร็วต่อไป

5.2 กฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) (เสนอโดย สภาธุรกิจ ตลาดทุนไทย)

1) ข้อเสนอ

ขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับกฎหมาย FATCA ที่สภาครองเกรสของประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีมติบังคับใช้ โดยให้สถาบันการเงินนอกประเทศสหรัฐอเมริการายงานข้อมูลบัญชีของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสัญชาติอเมริกาไปยังกรมสรรพากรสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งเจรจาเพื่อทำข้อตกลงระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลในเรื่องกฎหมาย FATCA ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 โดยให้กรมสรรพากรเป็นองค์กรกลางในการรวบรวมข้อมูลที่สถาบันการเงินจะต้องนำส่งให้กับกรมสรรพากรสหรัฐฯ รวมทั้งเร่งรัดการออกหรือแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

2) มติที่ประชุม

มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

5.3 การเร่งรัดการออกกฎหมายเพื่อรับรองผู้ประกอบการเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (เสนอโดย กกร.)

1) ข้อเสนอ

ขอให้รัฐบาลพิจารณาออกกฎหมายเฉพาะหน้าในเรื่องแรงงานทางทะเล เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาแรงงานทางทะเล (Marine Labor Convention: MLC) ที่กำหนดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งหากไม่มีกฎหมายที่ออกมารองรับอนุสัญญาดังกล่าวก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ผู้ประกอบเรือเดินทะเลสัญชาติไทยจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียอย่างรุนแรงต่อธุรกิจพาณิชยนาวีของไทย

2) มติที่ประชุม

มอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี ร่วมกับ รองนายกรัฐมนตรี (นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา) รับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 มีนาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ