แผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2556 ของกระทรวงคมนาคม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 10, 2013 09:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2556 ของกระทรวงคมนาคม ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้

กระทรวงคมนาคมได้จัดทำ “แผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2556” ขึ้น เพื่อเตรียมการรองรับการเดินทางของประชาชน เนื่องจากในช่วงเทศกาลดังกล่าวประชาชนมีความต้องการในการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องประสบปัญหาทั้งในด้านการให้บริการขนส่งสาธารณะ สภาพการจราจรติดขัด แออัดและมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ โดยแผนอำนวยความสะดวกฯ ดังกล่าว มีเป้าหมายหลัก เพื่อต้องการให้ประชาชนกลับบ้านและท่องเที่ยวอย่างมี “ความสุข สะดวก และปลอดภัย” ด้วยการดูแลอำนวยความสะดวกการให้บริการรถสาธารณะประเภทต่าง ๆ และการปรับปรุงเส้นทางหลักและเส้นทางเลี่ยงให้ใช้การได้อย่างดี ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางการเดินทางที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ทั้งนี้ แผนอำนวยความสะดวกฯ ดังกล่าว สอดคล้องกับแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2556 ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ที่กำหนดระยะเวลาการปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 11 — 17 เมษายน 2556 โดยมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย แผนอำนวยความสะดวก มั่นคงและปลอดภัย การประสานงาน การรายงานผลการปฏิบัติและการประเมินผล ดังนี้

1. วัตถุประสงค์

1.1 จัดให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนอย่างเพียงพอ ทั้งด้านระบบขนส่งสาธารณะและระบบโครงข่าย รวมทั้งจัดเตรียมมาตรการรองรับเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาโดยทันทีและเร่งด่วน

1.2 ป้องกันและลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากการเดินทางในช่วงเทศกาล

1.3 ประชาชนมีความเชื่อมั่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบและมีความปลอดภัยสูงสุด

1.4 ประชาชนมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ

2. เป้าหมาย

2.1 ให้สามารถลดจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้บาดเจ็บเหลือน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในเทศกาลสงกรานต์ ปี 2555 และจะต้องไม่มีผู้โดยสาร ในระบบขนส่งสาธารณะเสียชีวิตจากการเดินทางในช่วงเทศกาล

2.2 จัดอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในการเดินทางทั้งไปและกลับ รวมทั้งจัดเตรียมและบริหารจัดการด้านยานพาหนะและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับอย่างเพียงพอ ไม่ล่าช้า และไม่มีผู้โดยสารตกค้าง

2.3 ผู้ประจำรถโดยสารสาธารณะ (พนักงานขับรถ พนักงานประจำรถ นายตรวจและผู้ให้บริการประจำรถ) จะต้องมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นศูนย์มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ในระหว่างการให้บริการเป็นจำนวนร้อยละ 100

2.4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานอื่น ๆ บูรณาการ การปฏิบัติงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการนำกฎหมายที่มีอยู่มาใช้บังคับอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุจากการเดินทางของประชาชน

3. ศูนย์อำนวยการ ประสานงาน และติดตามสถานการณ์ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการฯ และจัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยการฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบอุบัติเหตุ ให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง ประสานการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในเชิงรุก ดังนี้

3.1 กรมเจ้าท่า จัดตั้งศูนย์ปลอดภัยทางน้ำและศูนย์ควบคุมปฏิบัติการโทรทัศน์วงจรปิด ทางน้ำ(CCTV)

3.2 กรมการขนส่งทางบก จัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ

3.3 กรมการบินพลเรือน จัดตั้งศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยาน และเรือที่ประสบภัย

3.4 กรมทางหลวง จัดตั้งศูนย์บัญชาการกรมทางหลวง

3.5 กรมทางหลวงชนบท จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยกรมทางหลวงชนบท

3.6 การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดตั้งศูนย์ปลอดภัยการรถไฟในฝ่ายการเดินรถ

3.7 การท่าเรือแห่งประเทศไทย จัดตั้งศูนย์ปลอดภัย

3.8 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดตั้งศูนย์ควบคุมทางพิเศษบูรพา

3.9 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จัดตั้งศูนย์ควบคุมสั่งการ ชื่อ “ศูนย์พสุธา”

3.10 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จัดตั้งศูนย์รัชดา

3.11 บริษัท ขนส่ง จำกัด จัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ

3.12 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด จัดตั้งศูนย์ติดต่อประสานงานห้องรายงานประจำวัน

3.13 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินและวิกฤต

3.14 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จัดตั้งศูนย์ร่วมรักษาความปลอดภัย

3.15 บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด จัดตั้งศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้า

4. ภาพรวมของแผนอำนวยความสะดวกฯ

ประกอบด้วย 3 แผนงานหลัก ได้แก่ แผนการให้บริการและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง แผนงานด้านความมั่นคง และแผนงานด้านความปลอดภัย ดังนี้

4.1 แผนงานการให้บริการและอำนวยความสะดวก ได้แก่

4.1.1 บริการการขนส่งสาธารณะ

หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดเตรียมพื้นที่สถานีขนส่ง ชานชาลา และพื้นทิ่จอดรถสำรองให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชน รวมทั้งจัดเตรียมและเพิ่มจำนวนรถโดยสารประจำทาง/ ไม่ประจำทาง เพิ่มจำนวนตู้โดยสารรถไฟและเที่ยววิ่ง เพิ่มเที่ยวบินเสริมพิเศษ เพื่อรองรับปริมาณการเดินทาง ดังนี้

1) จัดรถโดยสารสาธารณะรองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่จะเดินทาง ทั้งเที่ยวไปและกลับตลอดช่วงเทศกาลและจัดรถรับ — ส่ง ผู้โดยสารระหว่างสถานีขนส่งผู้โดยสารกับหมู่บ้านในท้องถิ่นห่างไกลให้เพียงพอกับความต้องการเดินทาง

2) จัดขบวนรถไฟประจำ รับผู้โดยสาร 242 ขบวน/วัน รองรับการเดินทางได้ 95,000 คน/วัน เพิ่มตู้โดยสารในทุกเส้นทางเฉลี่ยขบวนละ 1-2 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารเพิ่มได้อีก 10,000 คน/วัน ประกาศเดินขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสารเพิ่มเติมจากขบวนรถประจำ เป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 (เที่ยวไป) วันที่ 11 — 12 เมษายน 2556 และช่วงที่ 2 (เที่ยวกลับ) วันที่ 15 — 18 เมษายน 2556 รองรับผู้โดยสารเพิ่มได้อีก 52,000 คน/วัน เฉลี่ย 10,000 คน/วัน สำรองขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสาร ในวันที่ 11 เมษายน 2556 ในกรณีมีผู้โดยสารตกค้างที่สถานี เส้นทางสายเหนือ กรุงเทพ — ศิลาอาสน์ สายตะวันออกเฉียงเหนือ อุบลราชธานีและอุดรธานี รวม 3 ขบวน

3) เพิ่มจำนวนเที่ยววิ่งรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพและปริมณฑลจำนวน 108 เส้นทาง ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ พร้อมจัดเดินรถเชื่อมต่อสถานีขนส่ง จำนวน 4 สถานี รวม 35 เส้นทาง ขาออก ช่วงวันที่ 11 — 13 เมษายน 2556 และขาเข้า ช่วงวันที่ 16 — 17 เมษายน 2556

4) จัดรถโดยสารอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน บริเวณท่าจอดรถโดยสารของบริษัทขนส่ง จำกัด จำนวน 4 เส้นทาง

5) เพิ่มจำนวนเที่ยวรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด ช่วงวันที่ 9-12 เมษายน 2556 (ขาไป) จำนวน 29,542 เที่ยว จำนวนผู้โดยสาร 801,342 คน ช่วงวันที่ 15-18 เมษายน 2556 (ขากลับ) จำนวน 28,355 เที่ยว จำนวนผู้โดยสาร 615,353 คน

6) เพิ่มเที่ยวบินพิเศษในเส้นทางหลักได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ตและกระบี่ ระหว่างวันที่ 11 — 16 เมษายน 2556 เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ จำนวน 26 เที่ยวบิน จำนวน 7,656 ที่นั่ง

4.1.2 การอำนวยความสะดวกด้านโครงข่ายถนน

1) ยกเว้นค่าผ่านทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และ 9 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ในวันที่ 10 เมษายน 2556 ถึง เวลา 24.00 น. วันที่ 16 เมษายน 2556

2) ยกเว้นค่าผ่านทางทางพิเศษบูรพาวิถี ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ในวันที่ 10 เมษายน 2556 ถึงเวลา 24.00 น.วันที่ 16 เมษายน 2556

3) ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด จุดให้บริการโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริการในเส้นทางสำคัญ เพื่อช่วยแก้ไขการเกิดอุบัติเหตุจราจร/รถเสีย สถานที่พักรถ และจัดเตรียมเครื่องมือ/เครื่องจักร/อุปกรณ์/รถฉุกเฉิน พร้อมให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกผู้ใช้ทาง

4.1.3 การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าเรือ/สถานีขนส่ง/ ท่าอากาศยานและอาคารผู้โดยสาร /สถานีรถไฟ

จัดเตรียมพื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก ให้มีความพร้อมรองรับปริมาณการใช้บริการของประชาชน

4.1.4 อำนวยความสะดวกในด้านข้อมูลการจราจร

รายงานผลการปฏิบัติงานผ่านระบบของศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงคมนาคม (MOTOC) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และครอบคลุมการให้บริการระบบบริหารจัดการอุบัติเหตุด้านการขนส่ง(TRAMS) แก่หน่วยงาน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และอำนวยความสะดวกในการจัดทำรายงานและการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุประจำวัน ทั้งในภาพรวมของกระทรวงคมนาคม ระดับกรม และระดับหน่วยงานในส่วนภูมิภาค

4.2 แผนงานด้านความมั่นคง

ติดตามสถานการณ์ข่าวสารข้อมูลกับฝ่ายความมั่นคง การแจ้งเตือนการก่อเหตุ ดำเนินการให้มีการจัดเวรยาม และเฝ้าระวังสังเกตการณ์ กวดขันการอยู่เวรยามประจำสถานีขนส่งผู้โดยสาร ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มการตรวจความเรียบร้อยในบริเวณโดยรอบ การเพิ่มการสังเกตเฝ้าระวังเหตุการณ์ และวัตถุแปลกปลอมและสิ่งผิดปกติ รวมทั้งการสังเกตบุคคลที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยตลอดจนเตรียมรองรับการช่วยเหลือในกรณีที่อาจเกิดเหตุฉุกเฉิน จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเหตุการณ์จากกล้อง CCTV

4.3 แผนงานด้านความปลอดภัย ประกอบด้วยมาตรการ ดังนี้

1) มาตรการด้านการบริหารจัดการ

1.1) จัดเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติ ณ จุดตรวจของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนประจำจังหวัด เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการมอเตอร์ไซค์ปลอดภัย เมาไม่ขับ สวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย มีใบอนุญาตขับรถ ไม่ขับรถเร็ว ไม่แซงในที่คับขัน ไม่ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจร กวดขันการบรรทุกเกินอัตรา

1.2) ตรวจความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ โดยให้พนักงานขับรถลงมารายงานตัวต่อผู้ตรวจการ ณ จุดตรวจบนถนนสายหลัก/สายรอง สถานีขนส่งผู้โดยสาร/จุดจอด และตรวจการมีใบอนุญาตขับรถ ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ตรวจสมุดประจำรถเพื่อตรวจสอบระยะเวลาในการขับรถ

1.3) ตั้งศูนย์ประสานงานระดับสำนักและชุดเคลื่อนที่เร็ว 18 ชุด ตรวจตรา และเฝ้าระวังในเส้นทางที่มีปริมาณจราจรสูง ช่วยเหลือเมื่อพบรถเสียหรืออุบัติเหตุ ประสานตรวจเยี่ยมหน่วยบริการอื่น

1.4) จัดตั้งศูนย์ปลอดภัยทางรถไฟฯ ส่วนกลาง จำนวน 1 แห่ง และส่วนภูมิภาค จำนวน 5 แห่ง เพื่อติดตามสถานการณ์ต่างๆ และประสานกับศูนย์ปลอดภัยกระทรวงคมนาคมในช่วงเทศกาล

1.5) ประชาสัมพันธ์รณรงค์ความปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ผ่านสื่อต่างๆ เช่น สื่อโทรทัศน์ (ฟรีทีวี) สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ และระบบ SMS จัดรายการ “สัญจรปลอดภัยกับกรมการขนส่งทางบก” เป็นต้น

2) มาตรการด้านถนนปลอดภัย

2.1) ตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุง ถนน และสะพานในความรับผิดชอบให้มีความปลอดภัยและพร้อมสำหรับการรองรับปริมาณการเดินทางของประชาชน ทั้งในเรื่องของผิวการจราจร สัญญาณและเครื่องหมายจราจร รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความพร้อมในพื้นที่รับผิดชอบตลอด 24 ชั่วโมง

2.2) ตรวจสอบจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และสรุปปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนวทางแก้ไข

2.3) หยุดดำเนินการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนและสะพานในช่วงเทศกาล และติดตั้งเครื่องหมายเตือน ป้ายแนะนำ และไฟสัญญาณเป็นระยะ ๆ ให้ชัดเจนทั้งกลางวัน/กลางคืน

2.4) ตรวจสอบเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ โดยเพิ่มความถี่การตรวจให้มากกว่าปกติ

3) มาตรการยานพาหนะปลอดภัย

3.1) จัดกิจกรรม “ตรวจรถก่อนใช้ ปลอดภัยแน่นอน” ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ จำนวน 2,198 แห่ง ให้บริการตรวจรถฟรี 20 รายการ

3.2) ตั้งจุดตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะและผู้ขับรถบนถนนสายหลักตลอด 24 ชั่วโมง จังหวัดที่กำหนดให้มีตรวจความพร้อมฯ จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง กำแพงเพชร พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา และ ระยอง

3.3) จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจสภาพความพร้อมของตัวเรือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ประจำเรือ (ชูชีพ) ให้มีสภาพเหมาะสมพร้อมใช้งาน หากตรวจพบข้อบกพร่องให้สั่งแก้ไขทันที

3.4) จัดพนักงานด้านเทคนิคตรวจสอบอุปกรณ์รถจักร ล้อเลื่อนอีกครั้ง เมื่อรถเทียบชานชาลา ให้เสร็จก่อนขบวนรถออก 1 ชั่วโมง และที่สถานีที่กำหนดให้มีเวลาหยุดขบวนรถมากกว่า 10 นาทีขึ้นไป

3.5) แจ้งเตือนตำแหน่งที่ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น ประตูฉุกเฉิน เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก

4) มาตรการผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย

4.1) การตรวจความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ

4.2) ตรวจวัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจของพนักงานขับรถบรรทุกก่อนอนุญาตให้นำรถบรรทุกออกจากสถานีขนส่งสินค้า

4.3) ตรวจวัดแอลกอฮอล์พนักงานประจำรถก่อนนำออกปฏิบัติหน้าที่บนรถ

4.4) ตั้งจุดตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถบนถนนสายหลัก

4.5) รณรงค์ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถและภายในบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสาร

4.6) ตรวจจับรถที่ใช้ความเร็วเกินกำหนดด้วยเครื่องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ

4.7) จัดตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ และกวดขันวินัยจราจรในทางพิเศษ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและเพื่อให้ผู้ใช้ทางพิเศษเดินทางด้วยความปลอดภัย

5) มาตรการบังคับใช้กฎหมาย

จัดตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยบูรณาการ การดำเนินงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครองและอาสาสมัคร เพื่อตรวจความพร้อม รวมถึงการจัดชุด สายตรวจตามเส้นทางสายหลัก สายรอง และในสถานที่ชุมชน โดยเน้นหนักในเรื่องตรวจสอบการขับรถ ตรวจจับความเร็ว ตรวจวัดแอลกอฮอล์ และไม่สวมหมวกนิรภัย

6) มาตรการด้านสังคม

บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน เพื่อร่วมมือกัน ในการตรวจความพร้อมและวินัยการขับขี่ของผู้ขับขี่ และประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติดมึนเมาทุกประเภท ภายในพื้นที่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ ทุกแห่ง

7) มาตรการด้านการประชาสัมพันธ์

รณรงค์เผยแพร่กิจกรรม/ผลการดำเนินงาน แถลงข่าว/จัดทำและแจกจ่าย แผ่นพับแนะนำเส้นทางเลี่ยง/ทางลัด รวมทั้ง รณรงค์ให้ความรู้แก่ผู้ขับขี่และผู้ใช้เส้นทาง ติดตั้ง เครื่องหมายเตือน ป้ายแนะนำ และไฟสัญญาณเป็นระยะๆ ให้ชัดเจนทั้งกลางวัน/กลางคืน ประชาสัมพันธ์บริการข้อมูลการเดินทาง เส้นทางเลี่ยง/ท่องเที่ยวหรือเส้นทางสำคัญ

4.4 การประสานงาน

1) ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม (ศปภ.คค.) ปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ประสานภารกิจด้านความปลอดภัยในระบบขนส่งระหว่างหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงคมนาคม เช่น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น และเป็นผู้ประสานการให้บริการอำนวยความสะดวก บรรเทาและแก้ไขปัญหาการเดินทางแก่ประชาชน

2) การประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference หน่วยงานในสังกัด กระทรวงคมนาคมต้องจัดผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบประจำศูนย์บริหารจัดการ อำนวยการการเดินทางของประชาชน รายงานสถานการณ์ ผลการปฏิบัติงาน ปัญหาอุปสรรคแก่ผู้บริหารกระทรวง คมนาคมตามกำหนดการ ดังนี้

2.1) วันที่ 11 เมษายน 2556 เวลา 16.00 น.

2.2) วันที่ 12 เมษายน 2556 เวลา 14.00 น.

2.3) วันที่ 13-14 เมษายน 2556 งด

2.4) วันที่ 15 เมษายน 2556 เวลา 14.00 น.

2.5) วันที่ 16 เมษายน 2556 เวลา 16.00 น.

3) หมายเลขสายด่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ใช้ในการประสานงาน เพื่อการติดต่อประชาสัมพันธ์ มีดังนี้

3.1) การประชาสัมพันธ์/ติดต่อรายงานเหตุ/อุบัติเหตุ ผ่านช่องทางสายด่วนของศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม เพื่อประสานการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถประสานและแจ้งข้อมูลได้ที่โทรสายด่วนหมายเลข 1356 ตลอด 24 ชั่วโมง

3.2) การประชาสัมพันธ์/ติดต่อรายงานเหตุ/อุบัติเหตุ

(1) กรมเจ้าท่า หมายเลข 1199

(2) กรมการขนส่งทางบก หมายเลข 1584

(3) กรมการบินพลเรือน หมายเลข 0 22860506 และ 0 2860594

(4) กรมทางหลวง หมายเลข 1586 ตำรวจทางหลวง หมายเลข 1193

(5) กรมทางหลวงชนบท หมายเลข 1146

(6) การรถไฟแห่งประเทศไทย หมายเลข 0 2537 9198

(7) การท่าเรือแห่งประเทศไทย หมายเลข 0 2269 3191 และ 0 2269 3199

(8) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หมายเลข 1543

(9) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หมายเลข 0 2938 3666

(10) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หมายเลข 1348

(11) บริษัท ขนส่ง จำกัด หมายเลข 0 2936 2963 ต่อ 526, 52

(12) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด หมายเลข 08 1821 3424

(13) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หมายเลข 0 2545 3181 — 5

(14) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 0 2132 9950 — 1

(15) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หมายเลข 0 2131 5700 ต่อ 1301

3.3) การประชาสัมพันธ์ทางวิทยุ/โทรทัศน์/สถานีวิทยุ สวพ. 91/จส. 100 และตำรวจทางหลวง หมายเลข 1193

4.5 การรายงานผลการปฏิบัติและการประเมินผล

1) ช่วงเทศกาล

ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการให้บริการขนส่งสาธารณะ (การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)) รายงานสถิติจำนวนผู้โดยสาร และจำนวนเที่ยวการให้บริการทั้งขาเข้าและขาออกในแต่ละวัน มายัง ศปภ.คค. ภายในเวลา 08.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ตลอดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวกฯ

2) ช่วงหลังเทศกาล

หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานตามมาตรการ กิจกรรม โครงการ พร้อมปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2556 เพื่อประมวลรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ โดยกระทรวงคมนาคมจะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับปรุงแผนอำนวยความสะดวกฯ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลถัดไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 เมษายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ