คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2556 — พ.ศ. 2561) ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และมอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐนำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2556 — พ.ศ. 2561) ใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานต่อไป
สาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2556 — พ.ศ. 2561) มี 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การสร้างความเป็นเลิศในการให้บริการประชาชน ประกอบด้วยกลยุทธ์
1.1 พัฒนาระบบการให้บริการประชาชน
1.2 เสริมสร้างวัฒนธรรมการให้บริการที่เป็นเลิศ
1.3 พัฒนาระบบการจัดการข้อร้องเรียนและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
2. ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนาองค์การให้มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย บุคลากรมีความเป็นมืออาชีพ ประกอบด้วยกลยุทธ์
2.1 พัฒนาหน่วยงานของรัฐให้มีขีดสมรรถนะสูง
2.2 พัฒนาระบบบริหารจัดการกำลังคนและพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบราชการ
2.3 เพิ่มผลิตภาพในการปฏิบัติราชการ โดยการลดต้นทุน และส่งเสริมนวัตกรรม
2.4 สร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
3. ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสินทรัพย์ของภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดมีกลยุทธ์บริหารสินทรัพย์ของภาครัฐอย่างครบวงจรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ คุ้มค่า และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของภาครัฐ
4. ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การวางระบบการบริหารงานราชการแบบบูรณาการ ประกอบด้วยกลยุทธ์
4.1 ออกแบบและพัฒนาระบบการบริหารงานแบบบูรณาการ
4.2 ปรับปรุงความสัมพันธ์และประสานความร่วมมือระหว่างราชการบริหารส่วนกลางส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น
5. ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การส่งเสริมระบบการบริหารกิจการบ้านเมืองแบบร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ประกอบด้วยกลยุทธ์
5.1 ทบทวนบทบาทภารกิจและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐให้เหมาะสมถ่ายโอนภารกิจงานและกิจกรรมที่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องปฏิบัติเองให้ภาคส่วนต่าง ๆ
5.2 ส่งเสริมการบริหารราชการระบบเปิดและการสร้างเครือข่าย
6. ยุทธศาสตร์ที่ 6 : การยกระดับความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในการบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วยกลยุทธ์
6.1 ส่งเสริมและวางกลไกสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ
6.2 ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และมาตรการในการต่อต้านคอร์รัปชั่น
7. ยุทธศาสตร์ที่ 7 : การสร้างความพร้อมของระบบราชการไทยเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ประกอบด้วยกลยุทธ์
7.1 พัฒนาระบบบริหารงานของหน่วยงานที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
7.2 เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลในภาครัฐของประเทศสมาชิกอาเซียน ซี่งประกอบด้วยโครงการสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ จำนวน 30 โครงการ ทั้งนี้ มีโครงการสำคัญ (Flagship Projects) ที่จะต้องดำเนินการเร่งด่วน จำนวน 10 โครงการ ดังนี้
1) โครงการส่งเสริมและพัฒนาความเป็นเลิศในการให้บริการประชาชน (ผู้รับผิดชอบ : สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับกระทรวง กรม และจังหวัดที่เกี่ยวข้อง)
2) โครงการพัฒนาระบบการจัดการข้อร้องเรียนและแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน (ผู้รับผิดชอบ : สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)
3) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนด้วยระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (ผู้รับผิดชอบ : กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับกระทรวง กรม และจังหวัดที่เกี่ยวข้อง)
4) โครงการวางแผนอัตรากำลังคนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Workforce Plan) (ผู้รับผิดชอบ : สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับกระทรวง กรม และจังหวัดที่เกี่ยวข้อง)
5) โครงการส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐบริหารสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ (ผู้รับผิดชอบ : สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)
6) โครงการพัฒนาโครงสร้างและระบบบริหารของหน่วยงานของรัฐ (ผู้รับผิดชอบ : สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับกระทรวง กรม และจังหวัดที่เกี่ยวข้อง)
7) โครงการส่งเสริมให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารกิจการบ้านเมือง (ผู้รับผิดชอบ : สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับกระทรวง และภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง)
8) โครงการวัดระดับความเชื่อถือและไว้วางใจในการบริหารงานภาครัฐ (ผู้รับผิดชอบ : สำนักงาน ก.พ.ร.)
9) โครงการพัฒนาระบบการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเพื่อรองรับการเป็นเมืองที่มีศักยภาพเด่นเชื่อมโยงสู่อาเซียน (ผู้รับผิดชอบ : สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง)
10) โครงการส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ผู้รับผิดชอบ : สำนักงาน ก.พ.ร.)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 เมษายน 2556--จบ--