1. เห็นชอบในหลักการตามร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
2. เห็นชอบให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเข้าบัญชีเงินสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับภาระการจ่ายบำเหน็จบำนาญ
3. เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือและลดภาระให้แก่ข้าราชการและผู้รับบำนาญ จึงเห็นชอบให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว รวมทั้งเงินบำนาญส่วนเพิ่ม จากการดำเนินการตามแนวทางที่ให้ข้าราชการและผู้รับบำนาญ ซึ่งเป็นสมาชิก กบข. โดยสมัครใจสามารถเลือกกลับไปรับบำนาญตามระบบเดิม
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... การแก้ไขปัญหาสมาชิก กบข. ในเรื่องบำนาญ มีดังนี้
1) ข้าราชการ (สมาชิก กบข. ซึ่งเข้ารับราชการก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 และสมัครเป็นสมาชิก กบข.)
(1) สมาชิก กบข. ซึ่งประสงค์จะกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ให้แสดงความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 และให้ถือว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557
(2) ผู้ซึ่งจะต้องออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด ๆ ยกเว้นกรณีถึงแก่ความตาย ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ให้สมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงเมื่อวันออกจากราชการ
(3) การแสดงความประสงค์ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 หรือวันออกจากราชการ และให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ทั้งนี้ การแสดงความประสงค์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
(4) ข้าราชการตามข้อ (1)-(3) ไม่มีสิทธิได้รับเงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว โดยให้ กบข. ส่งเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเงินสำรอง สำหรับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว กบข. จะจ่ายคืนให้แก่ข้าราชการผู้นั้น
(5) การส่งเงินเข้าบัญชีเงินสำรองและการจ่ายคืนเงินสะสมและผลประโยชน์ให้เป็นไปตามที่ กบข. กำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะกำหนดให้ กบข. นำเงินประเดิม เงินสมทบ เงินชดเชย และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวที่ได้รับคืนจากสมาชิกส่งเข้าบัญชีเงินสำรอง ทั้งนี้ กบข. จะต้องจัดทำรายงานการนำเงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวส่งเข้าบัญชีเงินสำรองต่อกรมบัญชีกลาง ตามวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดข้อมูลที่ กบข. จะต้องรายงานให้กรมบัญชีกลางทราบ
(6) หากข้าราชการซึ่งได้แสดงความประสงค์ไว้แล้วถึงแก่ความตายก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2557 หรือก่อนวันออกจากราชการ ให้ถือว่าการแสดงความประสงค์นั้นไม่มีผลใช้บังคับ
2) ผู้รับบำนาญ (สมาชิก กบข. ซึ่งเข้ารับราชการก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 และสมัครเป็นสมาชิก กบข. แต่ได้ออกจากราชการแล้ว)
(1) หากประสงค์จะขอกลับไปรับบำนาญตามสูตรเดิม (พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494) ให้แสดงความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 และผู้รับบำนาญจะต้องคืนเงินก้อน (เงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว) ที่ได้รับไปแล้วแก่ทางราชการ โดยผู้รับบำนาญจะได้รับบำนาญตามสูตรเดิม ตั้งแต่วันที่ออกจากราชการจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 โดยวิธีหักกลบลบกัน
(2) การหักกลบลบกัน หากมีกรณีที่ผู้รับบำนาญต้องคืนเงิน ให้ผู้รับบำนาญคืนเงินแก่ส่วนราชการผู้เบิกภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2557 เพื่อนำส่งให้กรมบัญชีกลาง โดยเงินที่ส่วนราชการได้รับคืน ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หากมีกรณีที่ต้องคืนเงินให้ผู้รับบำนาญ กรมบัญชีกลางจะคืนเงินให้ผู้รับบำนาญ หากมีเงินเหลือจะนำส่งเข้าบัญชีเงินสำรอง
(3) ผู้รับบำนาญที่ได้แสดงความประสงค์แล้ว เป็นผู้รับบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ตั้งแต่วันที่ออกจากราชการ แต่หากผู้รับบำนาญมีกรณีที่ต้องคืนเงิน ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2557 จึงจะได้รับสิทธิดังกล่าว
(4) หากผู้รับบำนาญซึ่งได้แสดงความประสงค์ไว้แล้วถึงแก่ความตายก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ให้ถือว่าการแสดงความประสงค์นั้นไม่มีผลใช้บังคับ และหากมีกรณีต้องคืนเงินให้ส่วนราชการผู้เบิกแจ้งกรมบัญชีกลางเพื่อถอนเงินที่ผู้รับบำนาญคืนให้แก่ส่วนราชการผู้เบิก เพื่อคืนให้แก่ผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบำนาญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด จะกำหนดเรื่องการดำเนินการถอนเงินคืนให้แก่ผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบำนาญที่ตายไปก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 เมษายน 2556--จบ--