โครงการโชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 24, 2013 11:58 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ใช้เงินงบประมาณคงเหลือจากวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม จำนวน 194.71 ล้านบาท (งบอุดหนุน 100.72 ล้านบาท และงบดำเนินงาน 93.99 ล้านบาท) เพื่อเป็นงบดำเนินงานในการบริหารจัดการร้านถูกใจ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ

ทั้งนี้ ให้ พณ. รายงานผลการดำเนินโครงการโชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ” เมื่อสิ้นสุดโครงการ (กำหนด 6 เดือน) ด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า

1. พณ. ได้ดำเนินโครงการโชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ” ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 — มีนาคม 2556 สรุปได้ ดังนี้

1.1 ผลการดำเนินการโครงการฯ “ร้านถูกใจ”

1.1.1 จำนวนร้านถูกใจ ในระยะแรกมีร้านถูกใจครบตามเป้าหมายจำนวน 10,000 ราย ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีร้านถูกใจคงเหลือเฉพาะร้านถูกใจที่มีความตั้งใจและมีศักยภาพจำนวน 6,770 ราย

1.1.2 สินค้าที่เป็นที่นิยมของประชาชน ได้แก่ ข้าวสาร/ข้าวเหนียว บรรจุถุง 5 กก. สัปดาห์ละ 500,000 ถุง น้ำมันพืช น้ำตาลทราย

1.1.3 มูลค่าการสั่งซื้อสินค้า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 — 31 มีนาคม 2556 มูลค่าสั่งซื้อสินค้าจำนวน 2,557 ล้านบาท และสามารถจัดส่งสินค้าได้จำนวน 1,552 ล้านบาท

1.2 การใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติวงเงินจำนวน 1,320 ล้านบาท ได้มีการเบิกจ่ายและผูกพันแล้วจำนวน 1,125.28 ล้านบาท คงเหลือเงินงบประมาณจำนวน 194.71 ล้านบาท โดยได้ขอกันเงินคงเหลือกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังแล้ว

1.3 ผลสำเร็จและประโยชน์ที่ได้รับของโครงการฯ “ร้านถูกใจ”

1.3.1 ประชาชนทั่วประเทศตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในชนบทที่ห่างไกล

1.3.2 ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มมากขึ้น ลดภาระค่าครองชีพและเพิ่มรายได้ทางตรงประมาณ 2,370 ล้านบาท ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าบริการเพิ่มขึ้นประมาณ 4 รอบ เป็นมูลค่ารวม 9,480 ล้านบาท เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำให้เงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 10,100 ล้านบาท

2. พณ. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 โดยจัดทำแผนบริหารจัดการโครงการ “ร้านถูกใจ” ในระยะยาวหลังสิ้นสุดโครงการเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 เพื่อให้ “ร้านถูกใจ” ดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยไม่เป็นภาระงบประมาณและสามารถจำหน่ายสินค้าให้แก่ประชาชนได้ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ดังนี้

2.1 หลักการ

2.1.1 จัดระบบการขนส่งและกระจายสินค้าผ่านช่องทางการค้าปกติ โดยประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งและกระจายสินค้า

2.1.2 จัดระบบการบริหารจัดการในช่วงระยะเวลาที่มีการส่งผ่านให้ภาคเอกชน เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ในระยะยาว โดยให้ภาครัฐสามารถติดตามความก้าวหน้าและพัฒนาขยายจำนวนสมาชิกร้านถูกใจให้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น

2.2 เหตุผล

2.2.1 ลดภาระงบประมาณภาครัฐ โดยลดการอุดหนุนภาครัฐและเพื่อต่อยอดโครงการ “ร้านถูกใจ” ที่มีความเข้มแข็ง ให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

2.2.2 เป็นเครื่องมือในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้ร้านถูกใจซึ่งเป็นร้านค้าปลีกรายย่อยในท้องถิ่นให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และเป็นจุดจำหน่ายสินค้าราคาถูกทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นช่องทางการระบายสินค้าทางการเกษตรและสินค้า OTOP เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม

2.3 แผนการบริหารจัดการและแนวทางการดำเนินการ

2.3.1 พณ. ร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนบริหารจัดการโครงการ “ร้านถูกใจ”ในระยะต่อไปให้แก่ร้านถูกใจที่มีความเข้มแข็ง โดย

(1) จัดให้มีศูนย์รับและกระจายสินค้าให้ร้านถูกใจทั่วประเทศ โดยจัดพื้นที่จัดเก็บและจำหน่ายสินค้าโครงการ“ร้านถูกใจ” และให้ร้านถูกใจมารับสินค้าที่ศูนย์กระจายสินค้า

(2) พณ. จะประสานผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายจัดหาสินค้าอื่นๆ โดยให้ภาคเอกชนจำหน่ายสินค้าให้ร้านถูกใจตามราคาและปริมาณที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด

2.3.2 ให้องค์การคลังสินค้าจัดหาและจัดส่งสินค้าข้าวสาร/ข้าวเหนียว

2.3.3 ให้ร้านถูกใจรับสินค้าที่ศูนย์กระจายสินค้า โดย

(1) การสั่งซื้อสินค้า ในระยะ 3 เดือนแรก สั่งซื้อผ่านระบบ Call Center หลังจากนั้นจะให้ศูนย์รับและกระจายสินค้าดำเนินการรับคำสั่งซื้อต่อไป

(2) รับสินค้าที่ได้มีการสั่งซื้อที่ศูนย์กระจายสินค้าที่กำหนด

2.3.4 การติดตามดูแลการดำเนินงานของร้านถูกใจและการประเมินผล โดยการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและจัดจ้างบุคลากรประจำโครงการ“ร้านถูกใจ”เพื่อติดตามและอำนวยความสะดวกให้แก่ร้านถูกใจรับสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้า รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำ

2.3.5 พัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ร้านถูกใจเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

2.4 การจัดระบบบริหารจัดการร้านถูกใจในช่วงระยะเวลาที่จะมีการส่งผ่านให้ภาคเอกชนดำเนินการต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและ พณ. สามารถกำกับดูแลตามแผนการบริหารจัดการ เพื่อให้ร้านถูกใจสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เห็นควรให้ใช้เงินงบประมาณคงเหลือจำนวน 194.71 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติไว้เดิมในการดำเนินการ ดังนี้

2.4.1 ศูนย์สั่งซื้อสินค้า (Call Center) ในระยะ 3 เดือนแรก เพื่อจัดระบบการสั่งซื้อสินค้าของร้านถูกใจก่อนส่งมอบให้ภาคเอกชนที่ดำเนินการศูนย์กระจายสินค้าดำเนินการต่อไป

2.4.2 การจัดหาสินค้าที่จำเป็นในราคาต่ำกว่าราคาตลาดให้แก่ศูนย์กระจายสินค้าเพื่อจำหน่ายให้ร้านถูกใจ

2.4.3 การเชื่อมโยงสินค้าทางการเกษตรและสินค้า OTOP ให้มีจำหน่ายในร้านถูกใจเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย

2.4.4 พัฒนาระบบสารสนเทศการบริหารร้านถูกใจและระบบบัญชี และบุคลากรในการติดตามดูแลศูนย์กระจายสินค้าและร้านถูกใจส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

2.4.5 พัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ร้านถูกใจ

2.4.6 การบริหารจัดการโครงการ “ร้านถูกใจ” ให้มีสินค้าจำหน่ายอย่างต่อเนื่องและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 เมษายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ