การขอปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 30, 2013 16:28 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การขอปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ปฏิบัติงานจัดทำสัญญาประกันภัย

เพื่อคุ้มครองการรักษาพยาบาลของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ปฏิบัติงานจัดทำสัญญาประกันภัยเพื่อคุ้มครองการรักษาพยาบาลของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยให้สอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 มาตรา 11 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอ และให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด รับความเห็นของกระทรวงการคลังที่เห็นควรให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการและหลักฐานการเบิกจ่ายให้ชัดเจนและรัดกุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

ทก. รายงานว่าบริษัทฯ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัด ทก. มีหลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ปฏิบัติงานระบุอยู่ในระเบียบบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ฉบับที่ 69 ว่าด้วยการช่วยเหลือเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2548 ซึ่งระเบียบดังกล่าวอาศัยหลักเกณฑ์อ้างอิงตามสิทธิของข้าราชการตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2523 และบัดนี้ได้ถูกยกเลิกแล้ว โดยพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการฯ พ.ศ. 2553 และมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2553 ซึ่งพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่นี้ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ขึ้นใหม่เฉพาะในกรณีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลนั้นได้จัดทำสัญญาประกันภัยไว้แล้ว ดังนั้น ทก. จึงเสนอปรับแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบของบริษัทฯ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติงานของบริษัทฯ ให้สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับปัจจุบัน ดังนี้

1. เดิมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ปฏิบัติงานบริษัทฯ นั้น ใช้หลักเกณฑ์ตามระเบียบบริษัทฯ ฉบับที่ 69 ว่าด้วยการช่วยเหลือเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2548 ข้อ 7 (ซึ่งกำหนดให้กรณีที่ผู้ปฏิบัติงานหรือบุคคลในครอบครัวได้ร้บเงินค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานอื่นแล้ว ผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบนี้ เว้นแต่จำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลนั้นต่ำกว่าที่จะได้รับตามระเบียบนี้ ก็ให้ได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบนี้เฉพาะส่วนที่ยังขาดอยู่) โดยอาศัยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการฯ พ.ศ. 2523 มาตรา 9 (ซึ่งกำหนดให้กรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกานี้หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้น มีสิทธิหรือได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานอื่นแล้ว ผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับนั้นต่ำกว่าเงินสวัสดิการที่มีสิทธิจะได้รับตามพระราชกฤษฎีกานี้ ก็ให้มีสิทธิได้รับเงินเฉพาะส่วนที่ขาดอยู่) ซึ่งจะเห็นได้ว่า สิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาลของผู้ปฏิบัติงานที่ได้จัดทำสัญญาประกันภัยเพื่อคุ้มครองการรักษาพยาบาลของตนเองไว้นั้น หากบริษัทประกันภัยได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแล้ว จะไม่สามารถนำค่ารักษาพยาบาลมาเบิกจากหน่วยงานได้อีก เว้นแต่เงินที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยนั้น น้อยกว่าสิทธิที่จะได้รับจากหน่วยงาน

2. ปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการฯ พ.ศ. 2553 กำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลขึ้นใหม่แล้ว โดยมาตรา 11 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการทำสัญญาประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองในการรักษาพยาบาลแก่ผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว หากสิทธิที่จะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามสัญญาประกันภัยนั้น ต่ำกว่าค่ารักษาพยาบาลในคราวนั้น ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกานี้เฉพาะส่วนที่ขาดอยู่ แต่ต้องไม่เกินไปกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด” กล่าวคือหากสิทธิที่จะได้รับเงินจากบริษัทประกันภัยนั้นต่ำกว่าค่ารักษาพยาบาลในคราวนั้น ผู้นั้นจะยังคงมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามสิทธิของตนเองอีก ในส่วนที่ยังขาดอยู่หลังจากได้รับเงินจากบริษัทประกันภัยไปแล้ว แต่ต้องไม่เกินไปกว่าความเสียหายที่เกิดขื้นจริง

3. ทก. พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขปรับปรุงระเบียบของบริษัทฯ ว่าด้วยการช่วยเหลือเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2548 ขึ้นใหม่เพื่อให้มีหลักเกณฑ์สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการฯ พ.ศ. 2553 ย่อมเป็นการให้ทางเลือกแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับความเจ็บป่วย ได้เลือกใช้บริการจากสถานพยาบาลตามที่ตนต้องการและเป็นการเพิ่มสิทธิให้แก่ผู้ปฏิบัติงานอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเพียงแต่เฉพาะค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่ยังขาดอยู่ภายหลังจากที่หักเงินที่บริษัทประกันภัยจ่ายเงินให้ผู้ปฏิบัติงานแล้วเท่านั้น ส่วนเมื่อค่าใช้จ่ายที่ผู้ปฏิบัติงานได้จ่ายไปจริงยังคงขาดอยู่เท่าไหร่ ทางบริษัทฯ จึงจะจ่ายให้ผู้นั้นตามสิทธิที่ผู้นั้นสามารถเบิกจากบริษัทฯ ได้ แต่ไม่เกินยอดค่าใช้จ่ายที่ผู้ปฏิบัติงานได้จ่ายไปจริง ซึ่งในอนาคตหากผู้ปฏิบัติงานเห็นว่าจะได้รับความสะดวกจากการใช้สิทธิประกันภัย และยังสามารถนำส่วนที่ขาดมาเบิกจากหน่วยงานได้ อาจทำให้มีการทำประกันภัยเพิ่มมากขึ้น อันจะทำให้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของบริษัทฯ ลดลง เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานจะใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เฉพาะส่วนที่ขาดจากสิทธิเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยรักษาสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานของบริษัทฯ เนื่องจากในการทำสัญญาประกันภัยนั้น ผู้ปฏิบัติงานก็เป็นผู้ออกชำระค่าเบี้ยประกันภัยด้วยตนเอง จึงไม่ควรที่ผู้ปฏิบัติงานนั้นจะต้องเสียสิทธิของตนในการเบิกค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทฯ ไปด้วยแต่อย่างใด

4. ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 10/2554 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน ในส่วนที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้ปฏิบัติงานจัดทำสัญญาประกันภัยเพื่อคุ้มครองการรักษาพยาบาล

5. คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) ได้ประชุมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 มีมติเห็นชอบในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานของบริษัทฯ ที่มีการทำสัญญาประกันภัย ซึ่งให้ความคุ้มครองในการรักษาพยาบาลในคราวนั้น ให้ผู้ปฏิบัติงานได้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามระเบียบบริษัทฯ เฉพาะส่วนที่ขาดอยู่ แต่ต้องไม่เกินไปกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 เมษายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ