คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดนิยามคำว่า “ธุรกิจรักษาความปลอดภัย” เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าธุรกิจใดที่อยู่ภายใต้บังคับของร่างพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งกำหนดนิยามคำว่า “บริษัทรักษาความปลอดภัย” “บริษัท” “พนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต” “คณะกรรมการ” “นายทะเบียน” และ “พนักงานเจ้าหน้าที่”
2. กำหนดองค์ประกอบของ “คณะกรรมการรักษาความปลอดภัย” อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ คุณสมบัติและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
3. กำหนดให้ผู้ซึ่งประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยจะต้องขอรับใบอนุญาต และจะต้องจัดตั้งในรูปบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด โดยต้องใช้คำนำหน้าชื่อว่า “บริษัทรักษาความปลอดภัย” และคำว่า “จำกัด” หรือ “จำกัด (มหาชน)” ต่อท้าย แล้วแต่กรณี
4. กำหนดให้พนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตต้องสวมเครื่องแบบและติดเครื่องหมายพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตในขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ในการช่วยเหลือพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ และหน้าที่อื่น ๆ
5. กำหนดหลักเกณฑ์การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย โทษ ทางปกครอง การอุทธรณ์
6. กำหนดอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่
7. มีบทกำหนดโทษอาญา
8. กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย การเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย การจัดการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งการใช้ชื่อ “บริษัทรักษาความปลอดภัย”
9. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 พฤษภาคม 2556--จบ--