(ร่าง) แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ พ.ศ. 2556 - 2558 (แผนระยะสั้น)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 15, 2013 10:48 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง (ร่าง) แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ พ.ศ. 2556 - 2558 (แผนระยะสั้น)

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 เพิ่มเติม

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ พ.ศ. 2556 - 2558 (แผนระยะสั้น) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการด้วยแล้ว ประกอบด้วยพื้นที่เขตอนุรักษ์ 2 แห่ง ได้แก่

1) พื้นที่เขตอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านเขาพนมกาว อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร

2) พื้นที่เขตอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านโป่งคำ ในเขตป่าสงวนป่าแม่น้ำน่านตะวันออกตอนใต้ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน โดยจะใช้เงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทบ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตลอดแผน เป็นจำนวนเงิน 4.235 ล้านบาท

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานว่า

1. สธ. โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและจังหวัดกระบี่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และร้อยเอ็ด ร่วมกับชุมชน ส่วนรายการ / หน่วยงาน / องค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้ขออนุญาตเข้าไปสำรวจและศึกษา เพื่อประเมินสถานภาพของสมุนไพรและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เขตอนุรักษ์ ประกอบการพิจารณาจัดทำ (ร่าง) แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ พ.ศ. 2556 — 2558 (แผนระยะสั้น) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 เพราะเห็นว่า บริเวณถิ่นกำเนิดของนสมุนไพรซึ่งเป็นระบบนิเวศน์เฉพาะถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง และการเปลี่ยนแปลงป่าธรรมชาติเป็นป่าปลูกหรือพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์โดยถาวร ทำให้ชนิดพันธุ์สมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรในหลายพื้นที่อาจไม่สามารถฟื้นคืนสภาพได้โดยไม่มีสาเหตุจากการลักลอบเข้าไปในพื้นที่เขตอนุรักษ์เพื่อเก็บหาสมุนไพร การเก็บหาของป่า การล่า/ หรือดักจับสัตว์ป่าของชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงที่อาศัยอยู่รอบบริเวณพื้นที่พฤติการณ์ดังกล่าวขัดต่อกฎหรือระเบียบของหน่วยงานที่กำกับดูแลพื้นที่และมีผลกระทบต่อสมุนไพรและระบบนิเวศน์ที่เป็นถิ่นกำเนิดของสมุนไพร

2. (ร่าง) แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ พ.ศ. 2556 — 2558 (แผนระยะสั้น) เพิ่มเติมฉบับนี้ ประกอบด้วยพื้นที่เขตอนุรักษ์ 2 แห่ง โดยมีรายละเอียดแผนงานและแนวทางดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่

2.1 การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเงื่อนไขในการอนุญาตให้บุคคลเข้าไปในพื้นที่เขตอนุรักษ์อย่างถูกต้อง

2.2 การกำหนดวิธีการจัดการเฉพาะในพื้นที่ โดยประสานความร่วมมือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและชุมชน เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ คุ้มครองสมุนไพรและถิ่นกำเนิด

2.3 การสำรวจและศึกษาสมุนไพรแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีระบบฐานข้อมูล และนำไปสู่การจัดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม

2.4 การกำกับติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการตามแผนและกฎหมายรวมทั้งรวบรวมรายชื่อสมุนไพรที่สำรวจพบในแต่ละพื้นที่ และจำแนกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย สมุนไพรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสมุนไพรที่อาจจะสูญพันธุ์

3. (ร่าง) แผนจัดการคุ้มครองสมุนไพรพื้นที่เขตอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านเขาพนมกาว อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร

3.1 หลักการและเหตุผล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตรร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและชุมชนจัดทำโครงการจัดทำแผนจัดการการอนุรักษ์ คุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรและถิ่นกำเนิดของสมุนไพรป่าชุมชนบ้านเขาพนมกาว หมู่ 9 ตำบลหนองพยอม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร พ.ศ. 2556 — 2558 ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อการพักผ่อนหรือการศึกษาหาความรู้ ส่งเสริมให้ชุมชนมีการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรในพื้นที่อย่างยั่งยืน ส่งเสริมและสนับสนุนมาตรการด้านกฎหมายที่มีอยู่ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่บริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศน์และป้องกันผลกระทบต่อสภาพตามธรรมชาติ

3.2 สถานการณ์และสภาพปัญหา สถานการณ์เขาพนมกาวพบการลักลอบเข้าไปเก็บหาสมุนไพรโดยเฉพาะกวาวเครือขาวและทรัพยากรอี่น ๆ ในพื้นที่โดยขาดการควบคุมดูแลรักษา ส่งผลกระทบต่อสมุนไพรและระบบนิเวศน์ซึ่งเป็นถิ่นกำหนดของสมุนไพร และอาจเกิดวิกฤติได้ในอนาคตหากไม่ร่วมมือแก้ไข

4. (ร่าง) แผนจัดการคุ้มครองสมุนไพรพื้นที่เขตอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านโป่งคำ ในเขตป่าสงวนป่าแม่น้ำน่านตะวันออกตอนใต้ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน

4.1 หลักการและเหตุผล ปัจจุบันสภาพพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดน่านป่าที่สมบูรณ์มีจำนวนน้อย นอกนั้นเป็นป่าเสื่อมโทรม มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าต่อไปในอนาคต ถ้าไม่มีการฟื้นฟูสภาพป่าให้สมบูรณ์ดังเดิม อาจส่งผลให้จำนวนพืชสมุนไพรในป่าธรรมชาติมีปริมาณที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรของชุมชนในปริมาณที่มากอย่างต่อเนื่อง โดยขาดการจัดการที่ดีหรือการปลูกทดแทนสมุนไพรบางชนิดจึงอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่ง (ร่าง) แผนจัดการคุ้มครองสมุนไพรดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนระบบสุขภาพแห่งชาติแบบพึ่งตนเองได้ และช่วยหน่วยงานรัฐพิทักษ์ปกป้อง คุ้มครอง รักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยชุมชน นอกเหนือจากประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม ภูมิปัญญาและธรรมรัฐแล้วก็จะได้ประโยชน์จากสิทธิชุมชนทางกฎหมาย ที่ป้องกันหรือกีดกันมิให้บุคคลหรือธุรกิจภายนอกได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม

4.2 สถานการณ์และสภาพปัญหา ยังไม่มีการศึกษาและสำรวจพืชสมุนไพรในพื้นที่ป่าชุมชนครอบคลุมทั้งหมด ในเบื้องต้นเป็นการเก็บรวบรวมชนิดพืชสมุนไพรของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) การสำรวจจากการใช้ประโยชน์ของคนในชุมชน จากหมอยาพื้นบ้านที่มีและผู้รู้อื่น ๆ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรทั้งโดยตรงและโดยอ้อมของคนในชุมชนยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น บางชนิดสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่นี้แล้ว เช่น ตะไคร้ต้น อบเชย มะตูมกา รางเย็น เป็นต้น ปัจจุบันยังไม่ทราบว่ามีสมุนไพรเหลืออยู่เท่าใดและระบบนิเวศน์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำการสำรวจพรรณพืชสุมนไพรและพืชใช้ประโยชน์อื่น ๆ ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านโป่งคำและในชุมชน ทั้งด้านข้อมูลพรรณพืช การใช้ประโยชน์ และลักษณะเชิงนิเวศวิทยา เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูสมุนไพรในพื้นที่ป่าชุมชน ตลอดจนกลไกตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงความหลากหลายของพืชสมุนไพร

5. งบประมาณที่ใช้ตามแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ พ.ศ. 2556 — 2558 (แผนระยะสั้น) เพิ่มเติม จำนวน 2 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตลอดแผน รวมวงเงินทั้งสิ้น 4,235,000 บาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 พฤษภาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ