1. รับทราบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายตามมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในคราวประชุม ครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอ
2. ให้กระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) รับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งความเห็นของกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยอยู่ในกรอบของกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดต่อไป
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายตามมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 มีดังนี้
1. กระทรวงศึกษาธิการควรมีการกำหนดนโยบายในการพัฒนาด้านการจัดการศึกษาโดยครอบครัวให้มีความชัดเจน เพื่อเป็นการส่งเสริมการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจ รวมทั้งควรมีการเชื่อมโยงการศึกษาทั้ง 3 ระบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อเป็นการพัฒนาระบบการศึกษาตามอัธยาศัยของประเทศไทยให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพต่อไป
2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ควรเร่งรัดในการจัดทำคู่มือการดำเนินงานการจัดการศึกษาโดยครอบครัวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีแนวปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจในเชิงระบบให้ตรงกันทั่วประเทศ โดยหลังจากที่ได้มีการใช้คู่มือฯ ดังกล่าวแล้ว ควรมีการรับฟังปัญหาจากการใช้คู่มือ ฯ และการประเมินผลร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงคู่มือฯ ให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับการจัดการศึกษาโดยครอบครัว และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมและเป็นระบบต่อไป
3. สพฐ. ควรเร่งรัดการดำเนินการตามที่ได้จัดทำแผนพัฒนาการศึกษาโดยครอบครัวเป็น 2 ระยะ คือ การดำเนินงานระยะยาว และการดำเนินงานในปีงบประมาณถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามประเด็นปัญหาที่ได้มีการวิเคราะห์และได้กำหนดเป้าหมายเพื่อการจัดทำแผนงานการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาโดยครอบครัวไว้แล้ว
4. สพฐ. ควรเร่งประสานงานและหารือไปยังหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาประเด็นการเรียนวิชาทหารเรือการเรียนรักษาดินแดน (รด.) โดยเฉพาะปัญหาการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และให้สิทธิกับผู้เรียนจากการศึกษาโดยครอบครัว ผู้เรียนจากการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ผู้เรียนจากการศึกษาทางเลือก และผู้เรียนจากการศึกษาตามอัธยาศัย ในการสมัครเป็นนักศึกษาวิชาทหาร ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 71 บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย” เพื่อเป็นกำลังของชาติโดยรัฐสามารถเกณฑ์กำลังพลมาใช้ป้องกันประเทศยามศึกสงคราม ทั้งนี้ การสมัครเป็นนักศึกษาวิชาทหารเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้รับการฝึกวิชาทหารและพร้อมที่จะเป็นกำลังสำรองรับใช้ชาติในยามศึกสงคราม
5. สพฐ. ควรมีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัวผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการศึกษาโดยครอบครัวและเป็นการส่งเสริมให้มีความเข้าใจตรงกัน รวมทั้งการจัดอบรมและให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นการปรับทัศนคติในเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว
6. สพฐ. ควรหารือไปยังกรมบัญชีกลางและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายงบประมาณ งบเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาโดยครอบครัวของผู้ที่ร้องที่ 2 (ตามคำร้องที่ 162/2555) เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป รวมทั้งควรมีการหารือเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนต่อไปในอนาคตเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของครอบครัวที่จะได้รับเงินอุดหนุนการศึกษารายหัวสำหรับผู้เรียน และเงินอุดหนุนสำหรับการจัดการศึกษาโดยครอบครัว
7. สพฐ. ควรมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัว เพื่อให้ครอบครัวและผู้เรียนจากการจัดการศึกษาโดยครอบครัวได้มีความรู้ ความเข้าใจในบทบาทอำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของ สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและเกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัว ผู้เรียนจากการจัดการศึกษาโดยครอบครัว และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีและการมีทัศนคติที่ดีต่อกันในการดำเนินงานต่อไปในอนาคต
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 พฤษภาคม 2556--จบ--