เพื่อวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงิน โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
และพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 2
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) ประธานคณะกรรมการประสานงานร่วมฯ ฝ่ายไทย เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้องเสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมคณะทำงานฝ่ายไทย-เมียนมาร์ (Myanmar-Thailand Taskforce) ครั้งที่ 2
2. เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง (กค.) โดยให้สำนักงานพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) เป็นผู้เข้าร่วมจัดตั้งและร่วมลงทุนในบริษัท ทวาย เอส อี แซด ดีเวลล๊อปเมนท์ จำกัด กับหน่วยงานของเมียนมาร์ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทวงเงินไม่เกินร้อยล้านบาท และให้ สพพ. พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ร่วมกับ Foreign Economic Relation Department (FERD) ของเมียนมาร์ ในสัดส่วนร้อยละ 50 วงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยให้ กค. รับไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ผลการประชุมคณะทำงานฝ่ายไทย-เมียนมาร์ (Myanmar-Thailand Taskforce) โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 7-10 พฤษภาคม 2556 สรุปได้ ดังนี้
1. ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนและเห็นชอบร่างสัญญาข้อตกลงผู้ถือหุ้น (Shareholders Agreement) สำหรับการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) โดยจะมี สพพ. และ Foreign Economic Relation Department (FERD) เป็นผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยและเมียนมาร์ตามลำดับ และร่างข้อบังคับของบริษัทจำกัด (Article of Association) รวมทั้งร่างกรอบความตกลง (Framework Agreement) สำหรับการลงนามระหว่าง SPV กับคณะกรรมการบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone Management Committee: DSEZ MC) เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในภาพรวมอย่างเป็นระบบ
2. ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษาของคณะผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นที่ทำการศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงการทวายในภาพรวม โดยเสนอให้รัฐบาลเมียนมาร์พิจารณารูปแบบการลงทุนแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ สำหรับโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน คือ ท่าเรือและถนน เพื่อให้โครงการมีความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์และสามารถหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนได้ ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนดังกล่าว ควรคำนึงถึงสถานะการคลังของรัฐบาลเมียนมาร์และการลงทุนควรแบ่งออกเป็นระยะ ๆ ซึ่งฝ่ายไทยและเมียนมาร์ได้ชักชวนให้ภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุนต่อโครงการ อาทิ การให้ความช่วยเหลือการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistant: ODA) แก่รัฐบาลเมียนมาร์
3. ที่ประชุมได้ตกลงกันในเรื่อง Relocation ว่า รัฐบาลเมียนมาร์จะเป็นผู้วางแผนและดำเนินการโยกย้ายคน โดยที่ SPC จะเป็นผู้จ่ายเงินผ่าน SPV และแผนการเคลื่อนย้ายคนจะต้องได้รับความเห็นชอบโดย SPV และเป็นไปตามมาตรฐานสากล
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 พฤษภาคม 2556--จบ--