กรอบการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 29, 2013 10:02 —มติคณะรัฐมนตรี

1. รับทราบสถานการณ์ความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลก และภาวะเศรษฐกิจไทยซึ่งจะมีผลกระทบต่อแนวโน้มเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในช่วงต่อไป

2. เห็นชอบกรอบการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจปี 2556 และมาตรการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ

3. มอบหมายให้หน่วยงานเจ้าภาพหลักรับมาตรการไปจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้

3.1 กระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการดำเนินการ (มาตรการด้านการเงิน)โดยประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย

3.2 กระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการดำเนินการ (มาตรการด้านการคลัง)

3.3 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ด้านเกษตร) กระทรวงการคลัง (ด้าน SMEs) กระทรวงอุตสาหกรรม (ด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ด้านท่องเที่ยว) กระทรวงพาณิชย์ (ด้านการส่งออก) กระทรวงพลังงาน (ด้านพลังงาน) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ) และกระทรวงการคลัง (ด้านผู้มีรายได้น้อย) เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการดำเนินการ (มาตรการเฉพาะด้านเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าและบริการ การส่งออกการลงทุนและรายได้ของประชาชน)

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง รายงานว่า เศรษฐกิจไทยในระยะ 1 ปีข้างหน้ากำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งผลจากการดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ส่งผลให้มีเงินทุนไหลมาสู่ภูมิภาคเอเชียจำนวนมากทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นการแข็งค่ามากกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพและยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ จำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดำเนินการร่วมกันอย่างเร่งด่วน สำนักงานฯ และกระทรวงการคลังจึงได้จัดทำกรอบการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยปี 2556 ขึ้น โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. ความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

1.1 สงครามค่าเงินและการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการเฉพาะกิจของประเทศมหาอำนาจในโลก (Quantitative Easing and Currency Wars) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศด้วยการขยายปริมาณเงิน ได้ก่อให้เกิดสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมาก สภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าวคาดว่าจะยังคงสร้างแรงกดดันต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกของปี 2556 ยังฟื้นตัวอย่างล่าช้าและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ขยายตัวในอัตราชะลอลง สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศต่างๆ ลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดแรงกดดันด้านค่าเงิน

มาตรการขยายปริมาณเงินของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร คาดว่าจะส่งผลให้มีสภาพคล่องส่วนเกินสะสมในระบบการเงินโลก ณ สิ้นปี 2556 จำนวนประมาณ 5.86 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งมีปริมาณสูงกว่าสภาพคล่องส่วนเกินสะสมจำนวน 1.85 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ (Hamburger Crisis) ในปี 2549 โดยในครั้งนั้นมาตรการขยายปริมาณเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ส่งผลกระทบต่อกรแข็งค่าของเงินบาท จนกระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น (The Reserve Requirement on Short-term Capital Inflows) เพื่อควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นเป็นการชั่วคราว เพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินบาทและลดผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ

1.2 ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยมีหนี้สาธารณะ อัตราเงินเฟ้อ การว่างงาน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบการเงินอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ และทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงินอยู่ในระดับสูงและมั่นคง รวมทั้งภาวะการผลิตและบริการในบางสาขายังคงขยายตัวดี อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในหลายประเทศส่งผลให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา เงินทุนไหลเข้าจากประเทศอยู่ในระดับที่สูงมาก ส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหลักทรัพย์ จึงมีผลทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่งที่สำคัญในภูมิภาค จึงทำให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบและการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ มีสัญญาณที่จะไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่เป็นจริง

1.3 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาสที่ 4 ปี 2555) ติดลบร้อยละ 2.2 แสดงให้เห็นถึงสัญญาณชะลอตัวอย่างชัดเจนจากปัญหาความเสี่ยงดังกล่าวซึ่งมีผลทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าหมายและศักยภาพที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกต่ำกว่าเป้าหมายครึ่งหนึ่ง และภาวการณ์การใช้จ่ายของประชาชนที่มีแรงกระตุ้นจากมาตรการของรัฐบาล เช่น โครงการรถยนต์คันแรก การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร เป็นต้น ก็เริ่มอ่อนแรงเช่นกัน

จากรายงานผลกระทบของเงินบาทที่แข็งค่าต่อภาคเศรษฐกิจจริงซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ รายงานตามมติ ครม. พบว่า ภาคการส่งออกที่มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลักได้รับผลกระทบโดยตรง โดยจากการประมาณการ ภาคอุตสาหกรรมมีรายได้จากการส่งออกลดลงประมาณ 79,660 ล้านบาท ในช่วง 4 เดือนแรก และภาคเกษตรมีรายได้ลดลง 7,694 ล้านบาท ในช่วง 3 เดือนแรก ในขณะที่สาขาการท่องเที่ยวในประเทศได้รับผลกระทบจากการที่คนไทยเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐ คาดว่าในช่วง 4 เดือนแรก จะส่งผลกระทบให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าลดลง 4,570 ล้านบาท และอากรขาเข้าลดลง 1,266 ล้านบาท

2. กรอบการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจปี 2556

จากปัญหาความเสี่ยงและผลกระทบดังกล่าวข้างต้น มีปัจจัยที่จะกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดใน 5 ด้าน ได้แก่ (1) ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าความคาดหวังและมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจอีก (2) การแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์เงินของประเทศมหาอำนาจ ทำให้สงครามอัตราแลกเปลี่ยนยังคงดำเนินต่อไปและส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าประเทศไทย (3) ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นและผันผวนส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ (4) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการสร้างรายได้-ลดรายจ่าย-ขยายโอกาส ในปีแรกมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการขนาดใหญ่อาจจะมีความล่าช้ากว่ากำหนดการ และ (5) การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ ต้องดูแลให้สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยระมัดระวังไม่ให้เป็นการเก็งกำไรจนเกิดฟองสบู่ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นจะต้องดำเนินมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น และสร้างความเข้มแข็งรวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจในระยะ 1 ปีข้างหน้า โดยกรอบการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจให้ความสำคัญกับการดำเนินมาตรการที่รัฐบาลสามารถกำกับได้ และลดความเสี่ยงจากปัจจัยที่รัฐบาลไม่สามารถกำกับได้ ดังนี้

2.1 การสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพระยะสั้น โดย

2.1.1 ดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนมิให้แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งและประเทศคู่ค้าจนกระทบต่อศักยภาพของเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

2.1.2 ดูแลการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เต็มศักยภาพและมีเสถียรภาพ โดยการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานกลางที่มีบทบาทหลักด้านการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กค.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

2.1.3 สร้างความเชื่อมั่นในต่างประเทศ โดยผ่านการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและการเยือนต่างประเทศของคณะผู้แทนของประเทศ

2.2 การรักษาศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 5 อย่างต่อเนื่อง โดย

2.2.1 สร้างฐานการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ ด้วยการเพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย และสร้างโอกาสให้กับประชาชน ทั้งการขยายฐานรายได้เก่าและสร้างรายได้ใหม่ เพื่อส่งเสริมการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น

2.2.2 สนับสนุนการสร้างรายได้จากต่างประเทศด้านการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนในภาคธุรกิจที่เหมาะสมในต่างประเทศ

2.2.3 ดำเนินนโยบายการคลังที่มีวินัย ขยายฐานภาษีและเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ของภาครัฐ ลดการขาดดุลงบประมาณให้เข้าสู่สภาวะสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยจัดให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว ด้วยการควบคุมหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลังที่กำหนด

2.2.4 ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาวตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย

3. การดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ประกอบด้วยมาตรการด้านการเงิน มาตรการด้านการคลัง และมาตรการเฉพาะด้าน ดังนี้

3.1 มาตรการด้านการเงิน โดยประสานงานกับ ธปท. ในการดำเนินมาตรการสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย 7 มาตรการ ได้แก่

3.1.1 ซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพื่อดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและไม่แข็งค่ามากกว่าความสามารถในการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการ

3.1.2 ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยอย่างเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ

3.1.3 ดำเนินมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (Macro Prudential Measures) เพื่อดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม

3.1.4 พิจารณาใช้มาตรการจำกัดเงินทุนไหลเข้าอย่างระมัดระวังเมื่อมีความจำเป็นโดยมีการประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบก่อนการดำเนินการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด

3.1.5 บริหารจัดการเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์โดยเพิ่มประเภทสินทรัพย์ที่ ธปท.สามารถลงทุนได้

3.1.6 ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สามารถบรรเทาผลกระทบของค่าเงินบาท

3.1.7 สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

3.2 มาตรการด้านการคลังประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่

3.2.1 กำกับดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

3.2.2 กำหนดการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้ได้ตามแผนงานในครึ่งหลังของปี 2556

3.2.3 กำหนดให้รัฐวิสาหกิจชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันรัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้เริ่มดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้ว เช่น บมจ.ท่าอากาศยานไทยฯ และ บมจ.การบินไทยฯ เป็นต้น

3.2.4 ปฏิรูปโครงสร้างภาษี ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว

3.2.5 สนับสนุนด้านสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและ SMEs ในการเพิ่มเครื่องมือการค้ำประกันการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

3.2.6 ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนไปลงทุนต่างประเทศในภาคธุรกิจที่เหมาะสม

3.3 มาตรการเฉพาะด้านเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าและบริการ การส่งออก การลงทุนและรายได้ของประชาชน ใน 8 ด้านโดยจะแบ่งเป็นมาตรการที่จะดำเนินการในช่วง 6 เดือน และมาตรการปรับโครงสร้างการผลิตที่สำคัญตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ได้แก่ (1) ด้านเกษตรเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร (2) ด้าน SMEs เพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 40 ของ GDP (3) ด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยี (4) ด้านท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว 24.7 ล้านคนในปี 2556 และรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2558 (5) การส่งออกขยายตัวร้อยละ 9 ในปี 2556 (6) ด้านพลังงานเพื่อให้มีแหล่งพลังงานที่มั่นคงในราคาที่เหมาะสม (7) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและการเข้าถึงบริการให้เป็นระดับแนวหน้าในภูมิภาค และ (8) ผู้มีรายได้น้อย เพื่อสร้างรายได้และกำลังซื้อขยายการเข้าถึงแหล่งทุน และลดต้นทุนการประกอบอาชีพ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 พฤษภาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ