1. เห็นชอบในหลักการโครงการความร่วมมือจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยจ่ายค่าตอบแทน สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจำนวน 10,400,000 บาท หรือ 252,000 ยูโร (อัตราแลกเปลี่ยน 39.98 บาท ต่อ 1 ยูโร) ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา แผนงานสร้างและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ผลผลิตนโยบายและแผนด้านการศึกษา งบรายจ่ายอื่น รายการค่าใช้จ่ายในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของชาติที่ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว และยังมีเงินคงเหลือเพียงพอไปดำเนินการ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
สาระสำคัญของเรื่อง
ศธ. รายงานว่า
1. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกาษา ได้จัดทำโครงการความร่วมมือ ข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย โดยองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและประสิทธิภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐานสากล การเรียนรู้อย่างเท่าทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบัน และอนาคต โดยดำเนินงานให้มีความสอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล และแนวนโยบายแห่งรัฐ
2. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำร่าง ยุทธศาสตร์การศึกษา พ.ศ. 2556-2558 เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและประสิทธิภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งการติดตามประเมินผลใน 4 ภูมิภาค ในช่วง เดือนมกราคม — มีนาคม 2556 และได้มีการปรึกษาหารือกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในการจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย และร่างข้อตกลงในความร่วมมือในการจัดทำข้อเสนอนโยบายการศึกษาของประเทศ โดยมีขอบเขตและระเบียบวิธีดำเนินการ ดังนี้
2.1 ขอบเขตการจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ 5 เรื่อง ดังต่อไปนี้
2.1.1 การประเมินระบบการศึกษาโดยรวม เน้นเรื่องคุณภาพ ความเสมอภาค และการปฏิรูป นโยบาย กฎ ระเบียบ โครงสร้าง นโยบายพิเศษ และแนวทางการปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงการศึกษาในประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11
2.1.2 นโยบายด้านครู และการเสริมสร้างความสามารถของครูและผู้บริหารโรงเรียน โดยการวิเคราะห์ทรัพยากรที่มีอยู่ รวมทั้งประเมินโอกาสเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ (การเสริมสร้างความสามารถของครู การเลื่อนวิทยฐานะ การยกระดับให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง การเป็นผู้นำในโรงเรียน การมีส่วนร่วมในสังคม การเรียนการสอนในพหุวัฒนธรรม ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน)
2.1.3 การพัฒนาหลักสูตร เน้นความสามารถด้านภาษา ความเป็นพลเมืองโลก ความมีขันติธรรม และพลเมืองศึกษา
2.1.4 นโยบายด้านการวัดและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ได้แก่ PISA, O-Net และตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา
2.1.5 การเรียนโดยใช้สื่อเคลื่อนที่ (Mobile Learning) เน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการศึกษาและฝึกอบรมครู
2.2 ระเบียบวิธีดำเนินการ โครงการจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทยจะใช้ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่
2.2.1 รายงานภูมิหลังการศึกษาของประเทศ จัดเตรียมโดยคณะของประเทศไทย (แต่งตั้งโดยหน่วยงานระดับชาติ) ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับคุณภาพและความเสมอภาคด้านการศึกษา รวมทั้งความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศ
2.2.2 ข้อมูลที่ใช้เป็นมาตรฐานและเทียบเคียง ซึ่งให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศเปรียบเทียบกับของประเทศอื่น ๆ
2.2.3 ศึกษาและทบทวนวรรณกรรม (literature review) ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านการศึกษาของประเทศ พร้อมด้วยข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศ
2.2.4 การเดินทาง 3 ครั้ง (กำหนดขอบเขต สืบค้น ข้อมูลและตีความ ตรวจสอบความถูกต้อง) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระดับชาติและคณะจากนานาชาติที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ (ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนโยบายซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา
2.3 การดำเนินงาน
2.3.1 ทบทวนรายงานภูมิหลังด้านการศึกษาของประเทศ (country background report) ที่จัดทำโดยคณะของประเทศไทย และให้ข้อคิดเห็นร่วมกับคณะของ OECD
2.3.2 จัดทำข้อเปรียบเทียบระบบการศึกษาของประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ส่วน OECD จะวิเคราะห์ผล PISA ของประเทศไทย
2.3.3 จัดทำ literature review งานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร ความสามารถด้านภาษา ความเป็นพลเมืองโลก ความมีขันติธรรม พลเมืองศึกษา การเรียนรู้ด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการศึกษาและฝึกอบรมสำหรับครู และประสานข้อคิดเห็นจาก OECD
2.3.4 ให้ข้อคิดเห็นต่อ literature review ของ OECD เรื่องการประเมินผลครูและนักเรียน
2.3.5 จัดทำการประเมินภาพรวมระบบการศึกษาของประเทศไทยในเรื่องคุณภาพ ความเสมอภาค ประสิทธิภาพ เพื่อ OECD ให้ข้อคิดเห็น
2.3.6 เข้าร่วมในการหารือและประชุมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับชาติ (national stakeholders) ที่ทางรัฐบาลจัด เป็นผู้นำในการสนทนาในเรื่องการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่
2.3.7 ยกร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ในหัวข้อเรื่องการพัฒนาหลักสูตร ความสามารถด้านภาษา ความเป็นพลเมืองโลก ความมีขันติธรรม พลเมืองศึกษา การเรียนรู้ด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการศึกษาและฝึกอบรมสำหรับครู และประสานข้อคิดเห็นจาก OECD
2.3.8 ให้ข้อคิดเห็นต่อรายงานฉบับสมบูรณ์ในส่วนที่ร่างโดย OECD เรื่องการประเมินผลครูและนักเรียน
2.3.9 ดำเนินการปรับแก้ให้สอดคล้องและปิดเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ร่วมกับ OECD
2.3.10 ดำเนินการในกิจกรรมเผยแพร่รายงานซึ่งอาจร้องขอโดยรัฐบาล
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 พฤษภาคม 2556--จบ--