ขออนุมัติลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐมัลดีฟส์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 29, 2013 10:43 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐมัลดีฟส์

ว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา

(สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐมัลดีฟส์ว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ)

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามสนธิสัญญาฯ

3. ให้ กต. ดำเนินการให้สนธิสัญญาฯ มีผลใช้บังคับในโอกาสอันเหมาะสมตามแต่จะตกลงกับฝ่าย มัลดีฟส์ต่อไป

4. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างสนธิสัญญาฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการลงนาม ให้ กต. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของเรื่อง

ร่างสนธิสัญญาฯ มีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับสนธิสัญญาในเรื่องเดียวกันที่ประเทศไทยจัดทำกับประเทศต่าง ๆ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. 2527 (แก้ไข พ.ศ. 2530) ทุกประการโดยกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการขอโอนและการรับโอนตัวผู้กระทำผิดระหว่างภาคี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการบริหารงานยุติธรรมระหว่างทั้งสองประเทศ ให้โอกาสคนชาติของตนที่ต้องโทษตามคำพิพากษาในดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง สามารถขอกลับไปรับโทษต่อในประเทศของตนเพื่อช่วยให้ผู้กระทำผิดเหล่านั้นสามารถเตรียมตัวเพื่อกลับคืนสู่สังคมเมื่อพ้นโทษได้ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ผู้กระทำผิดที่ถูกพิพากษาลงโทษในดินแดนของภาคีฝ่ายหนึ่งอาจถูกโอนตัวไปยังดินแดนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งได้เพื่อรับโทษที่เหลืออยู่

2. ผู้กระทำผิดอาจถูกโอนตัวได้ถ้าถูกพิพากษาลงโทษจำคุก กักขัง หรือทำให้ปราศจากอิสรภาพในรูปแบบอื่นใด

3. การกระทำอันเป็นมูลเหตุของการมีคำพิพากษาให้ลงโทษเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายของรัฐผู้รับ

4. ผู้กระทำผิดที่อาจถูกโอนตัวต้องเป็นคนชาติของรัฐผู้รับและมิได้เป็นคนชาติของรัฐผู้โอน

5. รัฐผู้โอน รัฐผู้รับ และผู้ต้องคำพิพากษาต่างเห็นพ้องให้มีการโอนตัวได้

6. ผู้กระทำผิดซึ่งกระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในและภายนอกของรัฐ ต่อประมุขของรัฐ หรือสมาชิกในครอบครัวของประมุขของรัฐ หรือต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสมบัติที่มีค่าทางศิลปะของชาติจะไม่ได้รับการโอนตัว

7. หากกฎหมายของรัฐผู้โอนกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการจำคุก ผู้ต้องคำพิพากษาที่อาจถูกโอนตัวจะต้องได้รับโทษในรัฐผู้โอนมาแล้วเป็นระยะเวลาขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด

8. ผู้กระทำผิดยังคงเหลือระยะเวลาในการรับโทษตามที่กฎหมายของรัฐผู้โอนกำหนด

9. รัฐผู้โอนยังคงไว้ซึ่งเขตอำนาจแต่ผู้เดียวเกี่ยวกับคำพิพากษาของรัฐผู้โอนรวมทั้งโทษตามคำพิพากษาที่กำหนดโดยศาลของรัฐผู้โอนในการที่จะแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกคำพิพากษาของศาลตน

10. การบังคับโทษตามคำพิพากษาต่อภายหลังการโอนตัว ให้เป็นไปตามกฎหมายและขั้นตอนของรัฐผู้รับ

11. สนธิสัญญาฉบับนี้จะเริ่มมีผลใช้บังคับในวันที่มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 พฤษภาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ