การรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง แผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย พ.ศ. 2554 - 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 5, 2013 10:32 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบสนับสนุนการพัฒนาระบบสถิติของประเทศ ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอ ดังนี้

1. นำแผนพัฒนาสถิติรายสาขาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติราชการของกระทรวง/ กรม

2. จัดสรรงบประมาณในแต่ละปีสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ในการจัดทำข้อมูลสถิติตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาสถิติรายสาขา

3. คงกรอบอัตรากำลังข้าราชการพลเรือนสามัญด้านสถิติในหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้ง ให้นำผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ให้ ทก. มุ่งเน้นการจัดทำสถิติที่มีคุณภาพ มีความแม่นยำ ถูกต้อง และมีมาตรฐานการรายงานที่ชัดเจน และให้บูรณาการข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้ง ต้องกำหนดรอบการรายงานสถิติแต่ละประเภทให้ชัดเจนด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

ทก. รายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 แล้วมีความก้าวหน้าสรุปได้ ดังนี้

1. สสช. ได้จัดประชุมคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2555 เพื่อกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการระบบสถิติให้เป็นไปตามแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย พ.ศ. 2554-2558 และต่อมาได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสถิติรายสาขา จำนวน 21 คณะ ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านข้อมูลสถิติในแต่ละสาขา เพื่อดำเนินการตามแผนพัฒนาสถิติรายสาขาให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งนำเสนอความก้าวหน้า และจัดทำรายงานประจำปี (รายงานสถานการณ์สถิติทางการและผลการดำเนินงาน) เสนอคณะรัฐมนตรีผ่านคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน

2. คณะอนุกรรมการสถิติรายสาขา จำนวน 21 คณะ ได้ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาสถิติรายสาขาสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

2.1 การจัดทำแผน แผนพัฒนาสถิติรายสาขาเปรียบเสมือนกรอบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการสถิติรายสาขากับ สสช. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาข้อมูลข้อมูลสถิติและหน่วยสถิติของประเทศ การจัดทำแผนดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการเมื่อต้นปี 2555 โดยการหารือระหว่าง สสช. กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพพัฒนาสถิติสาขาต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญ และแนวทางการพัฒนาระบบสถิติของประเทศ รวมทั้งขั้นตอนการจัดทำแผนพัฒนาฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบและประโยชน์ที่จะได้รับ

2.2 กรอบระยะเวลา แผนพัฒนาสถิติรายสาขามีกรอบระยะเวลา 5 ปี (2554 — 2558) ตามระยะเวลาของแผนแม่บทระบบสถิติของประเทศไทย

2.3 สาระสำคัญของแผนพัฒนาสถิติรายสาขาจำนวน 21 สาขา แยกเป็นด้านสังคม จำนวน 9 สาขา ด้านเศรษฐกิจ จำนวน 11 สาขา และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 สาขา

3. ทก. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 ธันวาคม 2553 และวันที่ 4 เมษายน 2554 โดยสรุปได้ดังนี้

3.1 ผลการดำเนินงาน

(1) สสช. ได้ดำเนินการโครงการแปลงแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทยสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการบูรณาการข้อมูลสถิติระดับพื้นที่ สำหรับตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของจังหวัด และประเด็นปัญหาที่สำคัญในพื้นที่ และจัดเตรียมชุดข้อมูลที่สำคัญ และจำเป็นต่อการพัฒนาจังหวัด โดยการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพของจังหวัด (Product Champion) ซึ่งดำเนินการในรูปของคณะกรรมการสถิติในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ รวมทั้ง สถิติจังหวัด หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด และหัวหน้ากลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร ของสำนักงานจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ ในปี 2555 ได้ดำเนินการใน 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อ่างทอง นครนายก ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และกำแพงเพชร ซึ่งประสบผลสำเร็จบรรลุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ที่วางไว้

(2) ได้ข้อมูลที่เกิดจากการบูรณาการข้อมูลสถิติและสารสนเทศระดับพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์จังหวัด และประเด็นปัญหาที่สำคัญในพื้นที่ และได้ชุดข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายของจังหวัด

(3) สถิติจังหวัดมีการปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเก็บข้อมูล เป็นผู้บริหารข้อมูลในระดับพื้นที่ และการสร้างวัฒนธรรมในการผลิตข้อมูลสถิติและสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงพื้นที่

(4) สสช. ใช้งบประมาณจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมาณ 16,630,000 บาท

3.2 ปัญหาและอุปสรรค

(1) การผลิตสถิติของประเทศไทยมีลักษณะการกระจายงาน กล่าวคือ นอกจาก สสช. จะเป็นหน่วยสถิติสำคัญด้านการจัดทำสำมะโนและการสำรวจแล้ว หน่วยงานต่าง ๆ จำนวนมากและนำเสนอสถิติจากการดำเนินงานตามภารกิจ เช่น การจัดทำทะเบียนและรายงานต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการผลิตข้อมูล/สถิติจำนวนมาก เพื่อใช้งานเฉพาะสำหรับแต่ละส่วนราชการ

(2) ขาดการประสานงานที่ดีเพื่อกำหนดมาตรฐานที่จำเป็นต่อการเปรียบเทียบและแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูล และเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สถิติเพื่อการวิเคราะห์และบริหารงาน จึงไม่สามารถบูรณาการข้อมูล/สถิติ หรือทำได้เพียงบางส่วน

(3) การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

(4) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เปิดกว้างขึ้นส่งผลให้ประเทศต่างๆ ต้องปรับบทบาทและวิธีการบริหารงานของหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านข้อมูลข่าวสาร ให้มีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ภาพรวม และนำผลการวิเคราะห์ไปใช้ประกอบการตัดสินใจอย่างถูกต้องและฉับไว

3.3 แนวทางแก้ไข

เพื่อให้การพัฒนาระบบสถิติของประเทศไทยให้สามารถรองรับการวางแผนและการตัดสินใจระดับนโยบายและยุทธศาสตร์และติดตามประเมินผลการพัฒนาได้ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้ผลิตและผู้ใช้ข้อมูลที่สำคัญ ดังนี้

1. กำหนดให้การดำเนินงานตามแผนพัฒนาสถิติรายสาขาเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติราชการของกระทรวง/ กรม เพื่อสนับสนุนแผนบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อส่งเสริม/ผลักดัน การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนยุทธศาสตร์ (Base Line) ทั้งในระดับประเทศ/กลุ่มจังหวัด/จังหวัด และใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพของประเทศ สะท้อนปัญหา หรือการมีระบบเตือนภัย (Warning System)

2. การสนับสนุนงบประมาณสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ในการจัดทำข้อมูลสถิติตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาสถิติรายสาขา

3. การสนับสนุนอัตรากำลังด้านสถิติสำหรับหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากปัจจุบันนักสถิติที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ (200 กรม) ขาดความก้าวหน้าในสายวิชาชีพ จึงมีการปรับเปลี่ยนสายงาน ทำให้เกิดการขาดแคลนนักสถิติในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งกระทบต่อการดำเนินงานด้านสถิติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 มิถุนายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ