การติดตามงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ด้านเศรษฐกิจ ประจำเดือนเมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 5, 2013 10:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวราเทพ รัตนากร) รายงานผลการติดตามงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ด้านเศรษฐกิจ ประจำเดือนเมษายน 2556 และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละด้านรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวราเทพ รัตนากร) ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 281/2555 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 (ข้อ 3) ได้รายงานผลการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลประจำเดือนเมษายน 2556 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในภาพรวมได้มีการดำเนินการ ดังนี้

1.1 ด้านราคาสินค้า ได้มีมาตรการในดูแลราคาสินค้าและบริการให้มีราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ได้แก่ การกำหนดราคาสินค้าและบริการควบคุม การดูแลราคาต้นทาง และราคาปลายทาง การกำหนดมาตรการในการดูแลราคา การตรึงราคาจำหน่ายสินค้า (สิ้นสุดโครงการแล้ว) การกำกับดูแลราคาจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ ติดตามตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย (สายตรวจ Mobile Unit) นอกจากนี้ ยังมีโครงการกำกับดูแลการชั่วตวงวัดและสินค้าหีบห่อเพื่อสร้างความเป็นธรรม โครงการธงฟ้าราคาประหยัดลดค่าครองชีพประชาชน ซึ่งได้จัดงานรวมทั้งสิ้น 761 ครั้ง สามารถลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนคิดเป็นมูลค่า 444.37 ล้านบาท จัดงานจำหน่ายสินค้า รวม 318 ครั้ง ลดค่าครองชีพได้คิดเป็นมูลค่า 15.53 ล้านบาท จัดงานธงฟ้าเคลื่อนที่เพื่อประชาชน (Mobile Unit) รวม 627 จุดลดค่าครองชีพได้คิดเป็นมูลค่า 14.67 ล้านบาท (สิ้นสุดโครงการแล้ว) รวมถึงโครงการโชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ”ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างส่งผ่านให้ภาคเอกชนดำเนินการต่อ โดย ณ วันที่ 30 เมษายน 2556 มีร้านถูกใจที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 6,770 ราย (สิ้นสุดโครงการแล้ว)

1.2 ด้านราคาพลังงาน

(1) น้ำมันดีเซล : ขยายระยะเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซล เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30บาทต่อลิตร ทำให้ราคา ณ วันที่ 30เมษายน 2556 อยู่ที่ 29.99 บาท/ลิตร โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 — เมษายน 2556 สามารถช่วยเหลือประชาชน และภาคธุรกิจเป็นเงินประมาณ 180,000 ล้านบาท

(2) แก๊สโซฮอล : ส่งเสริมให้มีการใช้แก๊สโซฮอลเพิ่มขึ้น โดย ณ วันที่ 30 เมษายน 2556 มีปริมาณการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น เป็น 2.55 ล้านลิตร/วัน

(3) LPG : ราคา ณ วันที่ 30 เมษายน 2556 ภาคครัวเรือน อยู่ที่ 18.13 บาท/กก. ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 30.13 บาท/กก. ภาคขนส่ง อยู่ที่ 21.38 บาท/กก.

(4) NGV : ราคา ณ วันที่ 30 เมษายน 2556 สำหรับประชาชนอยู่ที่ 10.50 บาท/กก. กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ อยู่ที่ 8.50 บาท/กก.

2. ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ

สร้างสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค ได้มีการดำเนินการ (1) พักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณากรอบวงเงินสำหรับโครงการพักหนี้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหรือเกษตรกร (2) ปรับค่าแรงงานเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาดำเนินการตามมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ SMEs (3) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในภาพรวมทั้งประเทศ ได้จ่ายเงินให้ผู้สูงอายุแล้ว 7,314,426 คน เบิกจ่ายเงินแล้ว 54,586 ล้านบาท (4) มาตรการบ้าน 5 ล้านบาท สิ้นสุดโครงการแล้ว (5) โครงการบ้านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรก ซึ่งได้ขยายระยะเวลาออกไปให้สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2556 มีผู้ได้รับการอนุมัติ คิดเป็นเงิน 9,919.47 ล้านบาท โครงการนี้มีปัญหาการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างต่ำ เนื่องจากโครงการไม่ครอบคลุมบ้านมือสอง และราคาบ้านต่ำกว่า 1 ล้านบาทมีจำนวนจำกัด (6) โครงการบ้าน ธ.อ.ส.- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อผู้ประสบภัย วงเงิน 14,000 ล้านบาท มีผู้ได้รับการอนุมัติคิดเป็น 29,877.84 ล้านบาท ปัญหาอุปสรรคของโครงการนี้ คือ จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อมากกว่าเงินที่ ธปท.ให้การสนับสนุน (7) มาตรการภาษีสำหรับการซื้อรถยนต์คันแรก คืนภาษีแล้ว 192,711 คัน เป็นเงิน 13,054 ล้านบาท

3. ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ระหว่างการเสนอแก้ไขประมวลรัษฎากรปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นอัตราร้อยละ 20

4. ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน (กองทุนหมู่บ้าน SML) (1) โครงการพัฒนาศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชน (SML) โอนเงินไปแล้วจำนวน 74,258 หมู่บ้าน/ชุมชน จำแนกเป็นหมู่บ้าน/ชุมชนใน 76 จังหวัด จำนวน 73,667 แห่ง ชุมชนในกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 591 แห่ง ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ได้เร่งรัดการดำเนินการการดำเนินการในส่วนของชุมชนใน กทม. ด้วยแล้ว(2) โครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านฯ ระยะที่ 3 ได้โอนเงินไปแล้ว 36,641 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 46.23

5. ยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มีการดำเนินการ ดังนี้

5.1 โครงการบัตรเครดิตเกษตรกร ได้อนุมัติแล้ว 2,226,517 บัตร ส่งมอบบัตรแล้ว 1,383,788 ราย วงเงินอนุมัติ 43,667.48 ล้านบาท

5.2 ขึ้นทะเบียนเกษตรกรในพืชสำคัญ 3 ชนิด ดังนี้

(1) ข้าวนาปี 55/56 ซึ่งมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนและผ่านการรับรองแล้ว จำนวน 3.47 ล้านครัวเรือน ข้าวนาปรัง มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนและผ่านการรับรองแล้ว จำนวน 457,243 ครัวเรือน

(2) มันสำปะหลัง ปี 55/56 ซึ่งมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนและผ่านการรับรองแล้ว จำนวน 473,852 ครัวเรือน

(3) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 55/56 ซึ่งมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนและผ่านการรับรองแล้ว จำนวน 220,216 ครัวเรือน

5.3 การรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/2556 โดยมีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี รวม 225 สหกรณ์ ซึ่งได้ให้บริการรับจำนำ/บริการรวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิก 326,925 ราย ปริมาณข้าวเปลือก รวม 1,564,177.031 ตัน

5.4 โครงการการรับจำนำข้าว โดยองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร รับจำนำแล้ว 2.948 ล้านตัน มูลค่า 39,687.411 จำนวนเกษตรกร 349,841 ราย จำนวนโรงสี 264 แห่ง

ปัญหาอุปสรรค : งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่าคลังสินค้า ค่ากรรมการ ค่าตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร ค่าดูแลรักษาข้าวสาร และค่าเบี้ยประกันภัย ทำให้ อ.ต.ก. ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการตามสัญญาได้

5.5 โครงการรักษาเสถียรภาพราคามะพร้าว ปี 2555 ดำเนินการรับซื้อเนื้อมะพร้าวแห้งจากเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร ใน 8 จังหวัด จำนวน 9,000 ตัน โดยชดเชยราคากิโลกรัมละ 6 บาท และช่วยค่าขนส่งเพื่อให้เกษตรกรได้รับราคาที่คุ้มต่อการผลิต ตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 ถึง 20 กุมภาพันธ์ 2556 ขณะนี้ได้รับซื้อแล้ว 8,605.38 ตัน คิดเป็นร้อยละ 95.62 ขณะนี้มี 7 จังหวัด แจ้งปิดโครงการแล้ว และจังหวัดนครศรีธรรมราชขอขยายระยะเวลาโครงการออกไปจนถึง 20 เมษายน 2556

5.6 การรักษาเสถียรภาพราคายางพารา(ข้อมูล ณ เมษายน 2556) โดยได้รับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร จำนวน 206,914.55 ตันมูลค่า 20,485.55 ล้านบาทมีการทำประกันวินาศภัยโกดัง/โรงงาน จำนวน 54 จุด ณ วันที่ 30 เมษายน 2556 มีเงินสดคงเหลือในบัญชีของโครงการฯ จำนวน 580.637 ล้านบาท

5.7 การเยียวยาและการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร จากภัยพิบัติด้านการเกษตร ในกรณีฝนทิ้งช่วง/ภัยแล้ง อุทกภัย วาตภัย และศัตรูพืชระบาด

(1) ฝนทิ้งช่วง/ภัยแล้ง ด้านพืชมีพื้นที่เสียหาย 4.669 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 626,353 ราย คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 2,847.93 ล้านบาท ด้านประมงพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหาย 5,754 ไร่ กระชัง 720 ตารางเมตร เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,138 ราย คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 45.741 ล้านบาท ช่วยเหลือแล้ว 3.939 ล้านบาท

(2) อุทกภัย ด้านพืช มีพื้นที่เสียหาย 11,978 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 2,499 ราย คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 8.108 ล้านบาทช่วยเหลือแล้ว 8.551 ล้านบาท ด้านประมง พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหาย 247 ไร่ กระชัง 8,950 ตารางเมตร คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 3.141 ล้านบาทช่วยเหลือแล้ว 0.674 ล้านบาท ด้านปศุสัตว์ มีสัตว์สูญหาย/ตาย 11 ตัว เกษตรกรได้รับผลกระทบจำนวน 10 ราย คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 83,800 บาท ช่วยเหลือแล้ว 49,700 บาท

(3) วาตภัย (ระหว่างวันที่ 30 มกราคม — 1 มีนาคม 2556) พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 64,011 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 30,858 ราย คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 14.429 ล้านบาท

(4) ศัตรูพืชระบาด ได้มีการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด และควบคุมการระบาดไม่ให้ขยายพื้นที่

5.8 การจัดทำระบบทะเบียนครัวเรือนเกษตรกร ขณะนี้มีการปรับปรุงการจัดทำข้อมูลเป็นรายแปลง ซึ่งมีเป้าหมาย 7,230,043 แปลง เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 โดยดำเนินการไปแล้ว 3.312 ล้านครัวเรือน

5.9 การช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่เป็นลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรและผู้ยากจนที่มีปัญหาด้านหนี้สินและที่ดิน ให้สามารถไถ่ถอนหรือซื้อที่ดินคืน โดยมีเกษตรกรที่ได้รับอนุมัติจากกองทุนฯ จำนวน 426 ราย วงเงิน 76.59 ล้านบาท

5.10 โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ผลการดำเนินการ

(1) รอบที่ 1 (1 ตุลาคม 2555- 15 กันยายน 2556) ณ วันที่ 30 เมษายน 2556 มีโรงสีสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 895 โรง มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 2,149,030 ราย ปริมาณรับจำนำรวมทั้งสิ้น 13,993,093 ตัน ณ วันที่ 22 เมษายน 2556 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้ว 1,413,240 สัญญา เป็นเงิน 208,215.951 ล้านบาท

(2) รอบที่ 2 (14 มีนาคม - 15 กันยายน 2556) ณ วันที่ 30 เมษายน 2556 มีโรงสีสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 497 โรง มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 255,408 ราย ปริมาณรับจำนำรวมทั้งสิ้น 2,389,756 ตัน

5.11 โครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2555/26 ณ วันที่ 30 เมษายน 2556 มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 720ราย เปิดจุดรับฝากแล้ว 672 จุด ปริมาณรับจำนำรวมทั้งสิ้น 9,955,637 ตัน ณ วันที่ 30 เมษายน 2556 ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้ว 240,730 สัญญา เป็นเงิน 26,766.988 ล้านบาท

5.12 การติดตามตรวจสอบการรับจำนำสินค้าเกษตร พบการกระทำความผิด จำนวน 1,848 ราย ได้แก่ (1) การขนข้าวสารโดยไม่ได้รับอนุญาต (2) การสวมสิทธิเกษตรกร (3) ข้าวขาดบัญชี

5.13 การแก้ไขราคาสินค้าเกษตร

(1) ผักและผลไม้ ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบริษัท เอกชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม (Tesco Lotus) ขอความร่วมมือให้ช่วยรับซื้อผักและผลไม้ เพื่อนำไปจำหน่ายในสาขาทั่วประเทศ ปริมาณรวม 120,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท รวมถึงได้จัดงานเพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมาจำหน่ายผลผลิตให้ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งมีมูลค่าผลผลิตที่จำหน่ายรวมทั้งสิ้น 1,037,550 บาท

(2) สุกร ไข่ไก่ ได้มีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แก่เกษตรกรเพิ่มจากช่องทางปกติ แยกเป็นเนื้อสุกรจำนวน 175,695 กก. และไข่ไก่ 3,080,905 ฟอง

(3) หอมแดง (ฤดูแล้ง) จังหวัดเชียงใหม่ ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ จำนวน 22.66 ล้านบาท จากโครงการช่วยเหลือสินค้าเกษตรที่มีปัญหาเร่งด่วน ปี 2554 — 2556 ให้จังหวัดเชียงใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาราคาหอมแดงตกต่ำ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องซื้อหอมแดงจากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนในจังหวัดเชียงใหม่ ในราคา กก.ละ 17.00 บาท ปริมาณเป้าหมาย 11,000 ตัน ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนมีนาคม — กันยายน 2556

(4) พริก จัดประชุมหารือผู้ประกอบการแปรรูปซอสพริกและน้ำพริก เพื่อขอความร่วมมือในการรับซื้อพริกในราคาที่เหมาะสม ให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกพริก และการวางระบบการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงงานและผู้บริโภค

(5) ปาล์มน้ำมัน รอบที่ 1 ได้จัดสรรเงินให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เพื่อดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ เป้าหมาย 100,000 ตัน ในราคา กก.ละ 25 บาท จากผลการดำเนินงานในรอบที่ 1 ทำให้ระดับราคาผลปาล์มสูงขึ้นจากช่วงก่อนเริ่มโครงการเฉลี่ย กก.ละ 3.53 บาท เป็น กก.ละ 4 — 4.20 บาท จึงชะลอการดำเนินการในรอบที่ 2 ไปก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเกษตรกร

6. ปฏิรูปการจัดการที่ดิน (นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ซึ่งได้ดำเนินการจัดหาที่ดินให้แก่เกษตรกร การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการที่ดินป่าไม้ และการดำเนินการของคณะกรรมการบูรณาการการบริหารจัดการที่ดินเชิงระบบ (กบช.) ซึ่งยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณ โดยอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

7. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวราเทพ รัตนากร) พิจารณาจากรายงานผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่าง ๆ ในเดือนเมษายน 2556 แล้วมีความเห็น ดังนี้

7.1 แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยที่ขณะนี้ยังมีการตรึงราคา LPG ภาคครัวเรือน จึงทำให้อาจมีการลักลอบนำแก๊สหุงต้มมาจำหน่ายให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาตรวจสอบ และรายงานสภาพปัญหาและผลกระทบ รวมถึงการกำหนดมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

7.2 การดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของราคาสินค้ามีหลายโครงการที่สิ้นสุดระยะเวลาในการดำเนินการแล้ว จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาศึกษาหามาตรการ/โครงการที่จะช่วยป้องกันและบรรเทาผลกระทบเพื่อรองรับปัญหาราคาสินค้าที่มีการขยับตัวสูงขึ้น

7.3 นโยบายยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในส่วนของการเยียวยาและการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยพิบัติ ซึ่งการดำเนินการให้ความช่วยเหลือค่อนข้างล่าช้า ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติได้รับความช่วยเหลือเยียวยาอย่างรวดเร็ว จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือและบูรณาการการทำงานในเรื่องดังกล่าวร่วมกัน

7.4 การรับซื้อยางพารา ตามโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางนั้น เกิดปัญหาการสวมสิทธิ์การขายยางพาราให้กับโครงการ เนื่องจากแหล่งที่มาของยางพาราซึ่งมาขายให้กับโครงการไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาตรวจสอบ และรายงานสภาพปัญหาและผลกระทบ รวมถึงการกำหนดมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

7.5 การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร ผักและผลไม้ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ได้ดำเนินการขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนช่วยรับซื้อผักและผลไม้ เพื่อนำไปจำหน่ายพร้อมทั้งผลักดันให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงการจำหน่ายผักและผลไม้ จากกลุ่มเกษตรกรและผู้ค้าในแหล่งผลิต มาจำหน่ายผลผลิตให้กับผู้บริโภคโดยตรงนั้น เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และ กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้มีการหารือและบูรณาการการทำงานในเรื่องดังกล่าวร่วมกัน เพื่อนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรอื่น ๆ ด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 มิถุนายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ