คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “การรับขนทางอากาศ” “การรับขนทางอากาศภายในประเทศ” “คนโดยสาร” “ของ” “อากาศยาน” “ผู้ขนส่ง” “ผู้ขนส่งตามสัญญา” “ผู้ขนส่งตามความเป็นจริง” “ผู้ตราส่ง” “ผู้รับตราส่ง” “ลูกจ้าง” และ “หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน”
2. กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการรับขนคนโดยสารและสัมภาระ เช่น ในการรับขนคนโดยสารให้มีการส่งมอบเอกสารการรับขนตามที่กำหนด ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่คนโดยสารถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บตามที่กำหนด ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่สัมภาระลงทะเบียนถูกทำลาย สูญหายหรือเสียหายตามที่กำหนด ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีล่าช้าในการรับขนทางอากาศซึ่งคนโดยสารหรือสัมภาระตามที่กำหนด กำหนดความรับผิดชอบในความเสียหาย
3. กำหนดในเรื่องการรับขนของ เช่น ในการรับขนของให้มีการส่งมอบใบตราส่งทางอากาศ ใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับรองต้องมีรายการตามที่กำหนด รวมถึงข้อความแสดงถึงน้ำหนักแห่งของที่ส่งด้วย ให้ผู้ตราส่งจัดทำใบตราส่งทางอากาศเป็นต้นฉบับ จำนวนสามฉบับตามที่กำหนด ผู้ตราส่งต้องรับผิดชอบในความถูกต้องของรายการและข้อความเกี่ยวกับของที่ตนหรือบุคคลซึ่งกระทำการในนามของตนระบุไว้ในใบตราส่งทางอากาศหรือที่ให้ไว้แก่ผู้ขนส่ง ใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของถือเป็นพยายานหลักฐานเบื้องต้นของการทำสัญญาการรับของ และเงื่อนไขการรับขน เมื่อผู้ตราส่งได้ปฏิบัติตามภาระผูกพันทั้งปวงตามสัญญารับขนทางอากาศแล้วผู้ตราส่งมีสิทธิจัดการกับของ
4. กำหนดให้กรณีที่มีการรับขนร่วมกันและได้ดำเนินการส่วนหนึ่งโดยทางอากาศและส่วนอื่นโดยการรับขนโดยรูปแบบอื่น ให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้บังคับเฉพาะกับช่วงที่ดำเนินการรับขนทางอากาศ
5. กำหนดในเรื่องการรับขนทางอากาศที่ดำเนินการโดยบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ขนส่งตามสัญญา เช่น ถ้าผู้ขนส่งตามความเป็นจริงดำเนินการรับขนตลอดเส้นทางหรือบางส่วนของเส้นทางการรับขน ให้ผู้ขนส่งตามสัญญาและผู้ขนส่งตามความเป็นจริงอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ การกระทำและละเว้นการกระทำของผู้ขนส่งตามความเป็นจริงและของลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งตามความเป็นจริงซึ่งกระทำภายในขอบเขตหน้าที่การงานของตนให้ถือว่าเป็นการกระทำและละเว้นการกระทำของผู้ขนส่งตามสัญญาด้วย
6. กำหนดในเรื่องการฟ้องเรียกค่าเสียหาย เช่น ผู้เสียหายไม่อาจได้รับค่าเสียหายเชิงลงโทษหรือค่าเสียหายอื่นที่มิใช่ค่าสินไหมทดแทน สิทธิในการฟ้องค่าเสียหายจากการรับขนทางอากาศเป็นอันระงับสิ้นไปถ้าไม่มีการฟ้องคดีภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่อากาศยานถึงถิ่นปลายทาง หรือนับแต่วันที่อากาศยานนั้นควรจะได้ถึงแล้วหรือนับแต่วันที่การรับขนได้หยุดลง
7. กำหนดในเรื่องการรับขนทางอากาศในประเทศ โดยให้นำความในพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่การรับขนทางอากาศภายในประเทศโดยอนุโลม และในคดีที่เกี่ยวกับการรับขนทางอากาศภายในประเทศ ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
8. กำหนดบทเฉพาะกาล โดยให้คดีเกี่ยวกับการรับขนทางอากาศภายในประเทศที่ค้างการพิจารณาอยู่ในศาลก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลนั้นพิจารณาต่อไปจนแล้วเสร็จโดยถือว่าคดีนั้นมิใช่คดีเกี่ยวกับการรับขนทางอากาศตามพระราชบัญญัตินี้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มิถุนายน 2556--จบ--