กลับออกไปนอกราชอาณาจักร และหลักเกณฑ์และวิธีการในการส่งเงินการออกใบรับ หนังสือรับรอง
และใบแทนหนังสือรับรองการส่งเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดงานและจำนวนเงินที่ลูกจ้างต้องส่งเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และหลักเกณฑ์และวิธีการในการส่งเงินการออกใบรับ หนังสือรับรอง และใบแทนหนังสือรับรองการส่งเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริง
รง. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า
1. การกำหนดให้หักเงินค่าจ้างลูกจ้างสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่อยู่ระหว่างดำเนินการขอรับหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคลจากประเทศต้นทาง และได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตทำงานกับนายจ้างเดิมตามมติคณะรัฐมนตรี (15 มกราคม 2556) ทำให้ลูกจ้างมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ เกิดขึ้น ได้แก่ ค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคล และค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารดังกล่าวจากประเทศต้นทาง ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางชั่วคราว ค่าตรวจสุขภาพ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน
2. การหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างเพื่อนำส่งเข้ากองทุนในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ก่อให้เกิดภาวะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอันกระทบต่อค่าครองชีพของลูกจ้าง และอาจเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่เข้าสู่กระบวนการผ่อนผันแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเข้ามาทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานจนทำให้นายจ้างหันไปใช้แรงงานต่างด้าวแบบผิดกฎหมายอีก อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายด้านแรงงานต่างด้าวและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ ทำให้นโยบายการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด
3. ดังนั้น เพื่อให้การบริหารแรงงานต่างด้าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้บังคับของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวสมควรขยายระยะเวลาการใช้บังคับกฎกระทรวงออกไปเป็นวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557 และปรับปรุงอัตราเงินค่าจ้างที่ลูกจ้างต้องส่งเข้ากองทุน โดยปรับลดจำนวนเงินที่ลูกจ้างต้องส่งเข้ากองทุนให้เท่ากันทุกสัญชาติในอัตราคนละ 1,000 บาท เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และเกิดความเสมอภาคแก่ลูกจ้าง พร้อมทั้งแก้ไขระยะเวลาในการนำส่งเงินค่าจ้างที่หักไว้เข้ากองทุน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นายจ้างที่มีหน้าที่หักเงินค่าจ้างดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ขยายระยะเวลาการหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างเพื่อนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกนอกราชอาณาจักรจากเดิมวันที่ 1 มีนาคม 2556 เป็นวันที่ 1 มีนาคม 2557
2. ปรับลดจำนวนเงินที่ลูกจ้างต้องส่งเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร จากเดิมที่กำหนดให้ลูกจ้างสัญชาติพม่าและสัญชาติลาว ในอัตราคนละ 2,400 บาท และลูกจ้างสัญชาติกัมพูชา ในอัตราคนละ 2,100 บาท แก้ไขให้ลูกจ้างซึ่งได้รับใบอนุญาตทำงานให้ทำงานรับใช้ในบ้านและงานกรรมกรทุกสัญชาติต้องส่งเงินเข้ากองทุนในอัตราเท่ากันคนละ 1,000 บาท
3. ปรับลดระยะเวลาที่กำหนดให้นายจ้างนำส่งเงินค่าจ้างของลูกจ้างดังกล่าวที่หักไว้เข้ากองทุนโดยเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันทุกเดือนติดต่อกัน จากเดิมเป็นเวลา 6 เดือน แก้ไขให้เป็นเวลา 4 เดือน และกำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงกันเป็นหนังสือ เพื่อให้นายจ้างหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างเพื่อนำส่งเข้ากองทุนในอัตราที่กำหนดไว้น้อยกว่า 4 เดือนได้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มิถุนายน 2556--จบ--