คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกระทรวงภาชนะบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ข้อเท็จจริง
พน. เสนอว่า โดยที่พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ได้แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “น้ำมันเชื้อเพลิง” ตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ให้ครอบคลุมถึงก๊าซปิโตรเลียมเหลว จึงสมควรกำหนดลักษณะของภาชนะบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว รวมทั้งการออกแบบ สร้าง ทดสอบและตรวจสอบภาชนะบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว ทั้งที่ผลิตหรือสร้างขึ้นใหม่หรือผ่านการใช้งานมาแล้วให้ครอบคลุมเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพการประกอบกิจการก๊าซปิโตรเลียมเหลวในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นไปตามการปรับเปลี่ยนกฎหมายแม่บท ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
2. กำหนดคำนิยามคำว่า “ภาชนะบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว” “ASME” “API” และ “เมกาปาสกามาตร”
3. กำหนดให้ประเภทของภาชนะบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวมี 5 ประเภท ประกอบด้วย กระป๋องก๊าซ ถังก๊าซหุงต้ม ถังก๊าซรถยนต์ ถังเก็บและจ่ายก๊าซ และถังขนส่งก๊าซทางบก
4. กำหนดให้กระป๋องก๊าซต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกำหนด และผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการต้องจัดให้มีชื่อ หรือตราหรือเครื่องหมายการค้าของตนติดอยู่ที่กระป๋องก๊าซในที่ที่เห็นได้ง่าย
5. กำหนดให้ถังก๊าซรถยนต์ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกำหนด
6. กำหนดให้ถังเก็บและจ่ายก๊าซต้องเป็นภาชนะที่มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนด ต้องมีข้อต่อที่จะติดตั้งอุปกรณ์ตามที่กำหนด และให้ถังเก็บและจ่ายก๊าซแบบเหนือพื้นดินต้องมีแผ่นป้ายทำด้วยโลหะที่มีข้อความตามที่กำหนดเป็นภาษาไทย และหรือภาษาอังกฤษที่มีความหมายเช่นเดียวกัน
7. กำหนดให้ถังขนส่งก๊าซทางบกต้องเป็นถังที่คำนวณออกแบบและผลิตตามมาตรฐาน ASME Section VIII Division I : Rules for Construction of Pressure Vessels โดยให้ใช้ความดันในการออกแบบไม่น้อยกว่า 1.724 เมกาปาสกาลมาตร และต้องผ่านกรรมวิธีทางความร้อน (heat treatment) ภายหลังการเชื่อมโดยต้องมีเอกสารรับรองจากผู้ผลิต รวมทั้งต้องมีข้อต่อที่จะติดตั้งอุปกรณ์ตามที่กำหนด ตลอดจนต้องมีแผ่นป้ายทำด้วยโลหะที่มีข้อความตามที่กำหนด
8. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและตรวจสอบ และผลการทดสอบและตรวจสอบถังเก็บและจ่ายก๊าซหรือถังขนส่งทางบกทุกกรณีต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมธุรกิจพลังงาน
9. กำหนดห้ามผู้ประกอบกิจการใช้ถังเก็บและจ่ายก๊าซหรือถึงขนส่งก๊าซทางบกในกรณีมีปรากฏว่ามีการชำรุดของถัง หรือที่ไม่มีข้อมูลการออกแบบ
10. กำหนดบทเฉพาะกาล
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มิถุนายน 2556--จบ--