1. รับทราบผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาค ครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน 2556 ณ จังหวัดกำแพงเพชร
2. เห็นชอบตามมติที่ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาค ครั้งที่ 3/2556 ณ จังหวัดกำแพงเพชร และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน 2556 เวลา 15.30 — 18.00 น. ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีรายละเอียดข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย รวม 4 เรื่อง 13 ประเด็น สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การส่งเสริมการค้าและการลงทุน (เสนอโดย กกร.)
1.1 ข้อเสนอ
1) ขอให้สนับสนุนโครงการศึกษาการจัดตั้ง “ศูนย์บูรณาการการค้าและนวัตกรรมแปรรูปข้าวไทย” เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าข้าว และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสู่ตลาดโลก
2) ขอให้สนับสนุนโครงการศึกษาจัดตั้ง “ศูนย์กลางธุรกิจการค้าและนวัตกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง จังหวัดกำแพงเพชร” เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิต การแปรรูป และ การค้ามันสำปะหลังของภาคเหนือ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง
1.2 มติที่ประชุม
1) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันศึกษาในรายละเอียดและความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการจัดตั้ง “ศูนย์บูรณาการการค้าและนวัตกรรมแปรรูปข้าวไทย” เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าข้าว และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะรูปแบบการบริหารจัดการและระยะเวลาดำเนินงาน
2) มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาในรายละเอียดของการศึกษาจัดตั้ง “ศูนย์กลางธุรกิจการค้าและนวัตกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง จังหวัดกำแพงเพชร” โดยเฉพาะความเหมาะสมและความเป็นไปได้ กลไกและรูปแบบการบริหารจัดการ โครงสร้างราคา มาตรการป้องกันการปลอมปน และการเชื่อมโยงกับสถาบันหรือหน่วยงานที่มีอยู่ในพื้นที่เพื่อให้เกิดความสอดคล้องในกระบวนการผลิต การแปรรูปและการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
3) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ร่วมหารือกับกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาแหล่งเงินที่เหมาะสมในการศึกษารายละเอียดของทั้ง 2 โครงการ
2. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ (เสนอโดย กกร./รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวราเทพ รัตนากร))
2.1 ข้อเสนอ
1) ขอให้สนับสนุนการศึกษาวิจัยโครงการจัดตั้ง “ศูนย์ Inland Container Depot (ICD) หรือ Container Yard (CY)” จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อลดต้นทุนและพัฒนาการขนส่งของประเทศที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง
2) ขอให้เร่งรัดดำเนินโครงการขยายช่องทางจราจรจาก 2 ช่องทาง เป็น 4 ช่องทางจราจร และปรับปรุงขยายไหล่ทาง เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมของกลุ่มจังหวัด และเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวมรดกโลก 4 แห่ง (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย — ศรีสัชนาลัย — กำแพงเพชร—ห้วยขาแข้ง) จำนวน 4 เส้นทาง คือ (1) เส้นทางหมายเลข 115 จังหวัดกำแพงเพชร — หมายเลข 117 แยกปลวกสูง — จังหวัดพิจิตร (2) เส้นทางหมายเลข 101 จังหวัดกำแพงเพชร — จังหวัดสุโขทัย (คีรีมาศ) (เชื่อมโยงมรดกโลก) (3) เส้นทางหมายเลข 11 อำเภอสากเหล็ก (จังหวัดพิจิตร) — หมายเลข 32 อำเภออินทร์บุรี (จังหวัดสิงห์บุรี) และ (4) โครงการปรับปรุงและขยายไหล่ทาง เส้นทางหลวงชนบท อำเภอลานสัก (จังหวัดอุทัยธานี) —หมายเลข 3473 อำเภอลาดยาว (จังหวัดนครสวรรค์) —หมายเลข 3013 อำเภอคลองลาน (จังหวัดกำแพงเพชร)
3) ขอให้เร่งรัดการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างอำเภอ คลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เพื่อเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกลุ่มจังหวัดและประเทศเพื่อนบ้าน
2.2 มติที่ประชุม
1) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอโครงการจัดตั้งศูนย์ Inland Container Depot (ICD) หรือ Container Yard (CY) จังหวัดนครสวรรค์ ตามที่ภาคเอกชนเสนอ ไปพิจารณาในรายละเอียดร่วมกับภาคเอกชน โดยให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้และศักยภาพของพื้นที่ประกอบด้วย
2) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เร่งเตรียมความพร้อมของโครงการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โครงการขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร 2 เส้นทาง คือ (1) เส้นทางหมายเลข 115 จังหวัดกำแพงเพชร — หมายเลข 117 แยกปลวกสูง - จังหวัดพิจิตร และ (2) เส้นทางหมายเลข 101 จังหวัดกำแพงเพชร — จังหวัดสุโขทัย (คีรีมาศ) (เชื่อมโยงมรดกโลก) เนื่องจากได้รับการบรรจุอยู่ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... สำหรับเส้นทางที่เหลือให้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของเส้นทางตามความจำเป็นและเร่งด่วน เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีตามขั้นตอนปกติต่อไป
3) มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปพิจารณาความเหมาะสมของการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
3. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (เสนอโดย กกร.)
3.1 ข้อเสนอ
ขอให้เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนทดน้ำในแม่น้ำน่านและระบบชลประทาน ตามโครงการชลประทานพิษณุโลก (ตอนจังหวัดพิจิตร) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขออนุมัติไว้ โดยมีระยะเวลาการก่อสร้าง 8 ปี (พ.ศ. 2556 — 2562) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2560
3.2 มติที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) รับไปพิจารณาเร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนทดน้ำในแม่น้ำน่านและระบบชลประทานตามโครงการชลประทานพิษณุโลก (ตอนจังหวัดพิจิตร) ตามข้อเสนอของภาคเอกชน
4. การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการสุขภาพ (เสนอโดย กกร./สทท.)
4.1 ข้อเสนอ
1) ขอให้เร่งรัดและสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว “วิถีชีวิตและอัตลักษณ์แม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี” ประกอบด้วย การขุดลอกแม่น้ำสะแกกรังและกำจัดวัชพืช การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง การปรับปรุงทัศนียภาพและปลูกต้นไม้ และการก่อสร้างท่าเรือจุดรับ-ส่งนักท่องเที่ยว เพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตชาวแพแห่งแม่น้ำสะแกกรัง
2) ขอให้ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย (1) การอนุญาตให้มีการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรในช่วงค่ำ (2) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถให้ข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้านและวิถีชีวิต ได้แก่ โครงการออกแบบปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวภายในศูนย์บริการข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมประเกียรติ (เรือนไทย) อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และ (3) การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการท่องเที่ยว
4.2 มติที่ประชุม
1) มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บูรณาการโครงการและจัดลำดับความสำคัญ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว “วิถีชีวิตและอัตลักษณ์แม่น้ำสะแกกรัง” จังหวัดอุทัยธานี ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดอุทัยธานี พ.ศ. 2557 — 2560 และประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง
2) มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการตามภารกิจของหน่วยงาน โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับแผนแม่บทบูรณาการการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย — ศรีสัชนาลัย — กำแพงเพชร ของ อพท. และให้หารือกับสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในรายละเอียดของงบประมาณ
5. เรื่องอื่น ๆ รวม 4 เรื่อง ดังนี้ (เสนอโดย กกร.)
5.1 การพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
1) ข้อเสนอ
ขอให้รัฐกำหนดเงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการรถไฟฟ้า โดยขอให้มีการประกอบรถไฟฟ้าภายในประเทศไทย และสนับสนุนการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็นกรณีพิเศษ และ (2) ขอให้ภาครัฐจัดตั้งหรือมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบแบบ Single Command ในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมประกอบรถไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอย่างเป็นระบบให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้
2) มติที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพหลักและประสานกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันศึกษาความเหมาะสมของแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานผลิตรถไฟ/รถไฟฟ้าในประเทศ การกำหนดเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการสนับสนุนให้มีการย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย รวมทั้ง การเร่งรัดดำเนินการเสนอแนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านระบบขนส่งทางรางให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบุคลากรในตำแหน่งต่างๆ เพื่อให้มีจำนวนบุคลากรที่สามารถรองรับกับความต้องการตามแผนการพัฒนาระบบรางของประเทศ
5.2 ผลการจัด Round Table “โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท” เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556
1) ข้อเสนอ
ขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการ หรือคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน 3.5 แสนล้านบาท อย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพ และคุ้มค่ากับการลงทุน
2) มติที่ประชุม
รับทราบข้อเสนอแนะของภาคเอกชน และมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) รับไปพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
5.3 ความคืบหน้าการดำเนินงาน เรื่อง ผลกระทบของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยแรงงานทางทะเล (Maritime Labor Convention 2006: MLC 2006) กรณีที่ประเทศไทย ไม่มีกฎหมายบังคับใช้
1) ข้อเสนอ
ขอให้เร่งผลักดันการออกกฎหมายว่าด้วยแรงงานทางทะเลไปยังกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้ประเทศไทยสามารถให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยแรงงานทางทะเล (Maritime Labor Convention 2006: MLC 2006)
2) มติที่ประชุม
(1) มอบหมายให้กระทรวงแรงงานเร่งออกประกาศกระทรวงแรงงานว่าด้วยมาตรฐานแรงงานทางทะเลให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2556 และเร่งรัดร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2556 เพื่อให้ทันต่อการพิจารณาของรัฐสภาในการประชุมสมัยสามัญครั้งต่อไป
(2) มอบหมายกระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐเจ้าของเมืองท่าให้ทราบและเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินการของประเทศไทยตามข้อกำหนดของอนุสัญญาฯ เพื่อให้เจ้าของเรือไทยสามารถขนส่งสินค้าการเข้า-ออกท่าเรือประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ได้อย่างสะดวก
5.4 โครงการวางท่อส่งน้ำไปในแหล่งพื้นที่ทำการเกษตรในเขตจังหวัดนครสวรรค์
1) ข้อเสนอ
ขอให้ศึกษาเพิ่มเติมโครงการวางท่อส่งน้ำไปในแหล่งพื้นที่ทำการเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในเขตจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการลงทุน ประกอบด้วย 2 โครงการ คือ (1) โครงการสูบน้ำ ช่องแค-ตากฟ้า ระยะทางของท่อส่งน้ำ ประมาณ 18 กิโลเมตร และ (2) โครงการสูบน้ำพยุหะคีรี-อุดมธัญญา ระยะทาง 2 ช่วง โดยประมาณ 25 กิโลเมตร
2) มติที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำผลการศึกษาปี 2545 มาประกอบการพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมโครงการวางท่อส่งน้ำไปในแหล่งพื้นที่ทำการเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในเขตจังหวัดนครสวรรค์ โดยให้ความสำคัญต่อการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการด้วย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มิถุนายน 2556--จบ--