รับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาล
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวราเทพ รัตนากร) ได้รายงานผลการรวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะของส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาล โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง (คณะอนุกรรมการฯ ปิดบัญชี) กระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าภายใน, กรมการค้าต่างประเทศ) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรมการค้าภายใน องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรและองค์การคลังสินค้า มาให้ข้อมูลและร่วมประชุมหารือ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ประเด็นตัวเลขการคำนวณผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน จำนวน 3 โครงการ (นาปี 54/55 นาปรัง 55 และปี 55/56 ครั้งที่ 1) โดยตามรายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 ปรากฏว่ามีการขาดทุน รวม 2.21 แสนล้านบาท
2. การคำนวณผลการดำเนินงานตามโครงการ(กำไร/ขาดทุน)ของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล และของกระทรวงพาณิชย์มีความแตกต่างกันในการคิดราคาสินค้าคงเหลือ (สต็อกข้าว) คือ คณะอนุกรรมการฯ ปิดบัญชี คิดมูลค่าสินค้าคงเหลือ โดยใช้ราคาทุนหรือราคาเฉลี่ยตามประกาศของกรมการค้าภายใน ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 หรือราคาเฉลี่ยที่ อคส. หรือ อ.ต.ก.จำหน่ายแต่ละชนิดเปรียบเทียบกัน หากราคาใดต่ำกว่าให้ถือราคานั้นในการนำไปคำนวณมูลค่าสินค้าคงเหลือ แต่กระทรวงพาณิชย์ตีมูลค่าสินค้าคงเหลือโดยใช้ราคาทุน เพื่อให้ได้ข้อสรุปตัวเลขผลการดำเนินการตามโครงการ (กำไร/ขาดทุน) จึงได้ชี้แจงตามคำเชิญเข้าร่วมประชุมของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2556 ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลและเลือกใช้วิธีคิดคำนวณมูลค่าราคาสินค้าคงเหลือ ของคณะอนุกรรมการฯ ปิดบัญชี ไปดำเนินการพิจารณากำหนดแนวทางต่อการดำเนินโครงการ อย่างไรก็ตามตัวเลขผลขาดทุน ตามที่คณะอนุกรรมการฯ ปิดบัญชี ได้รายงานนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง อ.ต.ก. และ อคส. ได้ยืนยันต่อที่ประชุมว่ายังมีความคลาดเคลื่อนในส่วนของปริมาณสินค้าคงเหลือ อันทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวเลขขาดทุน ของแต่ละโครงการ ที่ประชุมจึงได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบปริมาณสินค้าคงเหลือสต็อกข้าวของแต่ละหน่วยงานแล้วส่งข้อมูลให้คณะอนุกรรมการฯ ปิดบัญชี คิดทบทวนผลกำไร/ขาดทุน ให้ตรงตามข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานระดับจังหวัด ผู้ประกอบการ และตัวเกษตรกรเมื่อวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2556 ณ ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี และอ่างทอง ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตัวแทนเกษตรกร ผู้แทนโรงสี ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจข้าว โดยเฉพาะประเด็นขั้นตอนและกระบวนการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เพื่อพิจารณาแนวทางในการบริหารจัดการโครงการฯ โดยขอความเห็นทั้งภาคราชการ ผู้ประกอบการและเกษตรกร ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันในเรื่องของความพึงพอใจในโครงการว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดีให้ประโยชน์แก่เกษตรกร
การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก มีหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน รวมทั้งมีขั้นตอนในการปฏิบัติหลายขั้นตอน ผลประโยชน์จะต้องถึงมือเกษตรกร และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการจะต้องพิจารณาถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ตลอดจนผู้ที่รับผิดชอบโครงการต้องมีการควบคุม ติดตาม ดูแล เมื่อเกิดปัญหาต้องแก้ไข เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา หากปฏิบัติตามข้างต้นได้ก็จะสามารถทำให้โครงการเกิดประสิทธิภาพ โปร่งใส และคุ้มค่ากับงบประมาณที่รัฐได้จ่ายไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 มิถุนายน 2556--จบ--