ผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 4/2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 3, 2013 13:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ประธานกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจเสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการพิจารณาและมติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 4/2556

2. เห็นชอบเรื่อง การปรับปรุงระบบแรงจูงใจในส่วนของค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินตามระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ตามผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 4/2556

3. ให้ความเห็นชอบเรื่องอัตราค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจ ตามผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 4/2556

สาระสำคัญของเรื่อง

รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ประธานกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ รายงานว่า กนร. ได้มีการประชุมครั้งที่ 4/2556 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2556 มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. การปรับปรุงระบบแรงจูงใจในส่วนของค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินตามระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้เสนอเรื่องการปรับปรุงระบบแรงจูงใจในส่วนของค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินตามระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ให้ กนร. พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 4/2556 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2556 ซึ่ง กนร. พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การปรับปรุงระบบประเมินผลฯ ตามที่ ฝ่ายเลขานุการ กนร. เสนอ ดังนี้

(1) กำหนดกลุ่มรัฐวิสาหกิจเพื่อใช้ระบบแรงจูงใจในส่วนของค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินตามระบบประเมินผลฯ เพื่อให้สอดคล้องการดำเนินงานและรูปแบบระบบแรงจูงใจที่ใช้กับรัฐวิสาหกิจแต่ละประเภท ดังนี้

กลุ่มที่ 1 รัฐวิสาหกิจประเภทที่จดทะเบียนและกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

กลุ่มที่ 2 รัฐวิสาหกิจประเภทที่จัดสรรโบนัสให้พนักงานได้เมื่อมีกำไรเพื่อการจัดสรรโบนัสเนื่องจากมีกำไรจากการดำเนินงาน ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)* บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)* บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การเคหะแห่งชาติ องค์การจัดการน้ำเสีย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง โรงงานไพ่ กรมสรรพสามิต องค์การสุรา กรมสรรพสามิต โรงพิมพ์ตำรวจ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด องค์การตลาด องค์การเภสัชกรรม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย บริษัท ขนส่ง จำกัด การท่าเรือแห่งประเทศไทย สถาบันการบินพลเรือน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานธนานุเคราะห์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การสะพานปลา องค์การสวนยาง องค์การคลังสินค้า องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด

กลุ่มที่ 3 รัฐวิสาหกิจประเภทที่จัดสรรโบนัสให้พนักงานได้เมื่อมีผลการประเมินสูงกว่าเป้าหมาย เช่น รัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณะและประสบผลขาดทุน ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

กลุ่มที่ 4 รัฐวิสาหกิจประเภทที่มีวัตถุประสงค์ในการให้การส่งเสริมกิจกรรมด้านต่าง ๆ โดยไม่มุ่งผลกำไร และดำเนินการโดยได้รับเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสวนพฤกษศาสตร์ และองค์การสวนสัตว์

กลุ่มที่ 5 รัฐวิสาหกิจประเภทจ่ายโบนัสพนักงานคงที่ ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด

กลุ่มที่ 6 รัฐวิสาหกิจประเภทที่ใช้ระบบแรงจูงใจด้านโบนัสพนักงานที่มีลักษณะเฉพาะ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนรายชื่อรัฐวิสาหกิจหรือการกำหนดกลุ่มของรัฐวิสาหกิจที่เริ่มเข้าสู่ระบบประเมินผลฯ ในอนาคตให้เป็นไปตามที่ สคร. เห็นชอบ

(2) กำหนดให้มีแรงจูงใจที่เป็นตัวเงินสำหรับรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณะและประสบผลขาดทุน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นต้น โดยพิจารณาจากผลการประเมินตามการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจเปรียบเทียบกับค่าเป้าหมาย

(3) กำหนดเงื่อนไขในการจัดสรรโบนัสของรัฐวิสาหกิจ โดยรวบรวมจากมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และปรับปรุงเพิ่มเติมในบางประเด็น ดังนี้

(3.1) ให้วิธีการคำนวณกำไรเพื่อการจัดสรรโบนัส เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ สคร. กำหนด โดยการจัดสรรโบนัสของพนักงานและลูกจ้างประจำเป็นดังนี้

โบนัสพนักงานและลูกจ้างประจำ

ผลการประเมิน        กลุ่ม 2             กลุ่ม 3*              กลุ่ม 4           กลุ่ม 5           กลุ่ม 6
  (คะแนน)   (รส. ทั่วไปในระบบ  (รส. ที่ให้บริการสาธารณะ  (รส. ส่งเสริม/     (รส. โบนัสคงที่)   (รส. ที่มีลักษณะ เฉพาะ
                 ประเมินผล)      และประสบผลขาดทุน)     ไม่มุ่งผลกำไร)                      ได้แก่ ธพว. และ
                                                                                         ธ.ก.ส.)
          % กำไรเพื่อ   ไม่เกินเท่า     ไม่เกินเท่าของ    4.1 โบนัสคงที่  4.2 โบนัส  ได้แก่ กฟน.      ไม่เกินเท่าของ
           การจัดสรร   ของเงิน       เงินเดือนค่าจ้าง   ตามผลการ     เชิงพาณิชย์  สลากฯ ธสน.     เงินเดือนค่าจ้าง
           โบนัส       เดือนค่าจ้าง                   ประเมิน                 บวท.
   5.0      11.00        8.0          1.00          2.00       จ่ายตามรส. ถือปฏิบัติการจ่าย       7.0
                                                               กลุ่ม 2     โบนัสพนักงานตาม
   4.5      10.50        7.0          0.75          1.50                 ที่เคยจ่ายอยู่เดิมไป     6.6
   4.0      10.00        6.0          0.50          1.00                 ก่อนจนกว่าจะมีการ     6.0
   3.5      9.50         5.5          0.50          0.75                 เปลี่ยนแปลง          5.5
   3.0      9.00         5.0          ไม่มีโบนัส       0.50                                    5.0
   3.0      9.00         5.0          ไม่มีโบนัส       0.50                                    5.0
   2.5      8.50         4.5          ไม่มีโบนัส       ไม่มีโบนัส                                 4.5
   2.0      8.00         4.0          ไม่มีโบนัส       ไม่มีโบนัส                                 4.0
   1.5      7.50         3.0          ไม่มีโบนัส       ไม่มีโบนัส                                 3.0
   1.0      7.00         2.0          ไม่มีโบนัส       ไม่มีโบนัส                                 2.0
                                                    รวมได้ 4.1 + 4.2                    วงเงินไม่เกิน 40%
                                                                                           ของกำไร
                                                                                       เพื่อการจัดสรรโบนัส

หมายเหตุ

  • เงื่อนไขการจ่ายโบนัส รส. กลุ่ม 3
  • ผลประเมินทุกหัวข้อย่อยต้องไม่ต่ำกว่า 3.0
  • การคำนวณวงเงินใช้จำนวนเท่าในระดับต่ำของแต่ละช่วงของผลประเมิน
  • รส. ต้องเสนอมาตรการลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้การจ่ายโบนัสไม่มีผลกระทบต่อผลขาดทุนขององค์กรโดยจะใช้ในการติดตามและประเมินผลปีต่อไป
  • ในปีที่ รส. กลุ่ม 3 มีกำไรเพื่อการจัดสรรโบนัสให้ใช้หลักเกณฑ์การจ่ายตาม รส. กลุ่ม 2

(3.2) การจัดสรรโบนัสของรัฐวิสาหกิจจะกระทำได้ เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบและรับรองงบการเงินแล้ว และต้องได้รับการอนุมัติการจัดสรรโบนัสจาก สคร.

(3.3) ห้ามมิให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเงินในลักษณะเดียวกันกับโบนัส ไม่ว่าจะจ่ายจากงบทำการของรัฐวิสาหกิจหรือจากแหล่งเงินอื่นใด

(3.4) ให้รัฐวิสาหกิจกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสภายในวงเงินโบนัสที่ได้รับอนุมัติให้แก่พนักงานและลูกจ้างประจำของรัฐวิสาหกิจ ตามผลการปฏิบัติงานที่อิงจากผลการประเมินประจำปี

(4) ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 เฉพาะในส่วนที่เชื่อมโยงการกำหนดวงเงินเลื่อนขั้นเงินเดือนกับผลการประเมิน โดยให้รัฐวิสาหกิจกำหนดวงเงินเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี โดยพิจารณาถึงสถานภาพขององค์กร และให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดวงเงินเลื่อนขั้นเงินเดือนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ

2. อัตราค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจ

2.1 ในปัจจุบันกรรมการรัฐวิสาหกิจจะได้รับเบี้ยประชุม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2547 โดยกำหนดให้กรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจได้รับเบี้ยประชุม ดังนี้

            กลุ่มรัฐวิสาหกิจ          เบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจรายครั้งไม่เกิน
         (บาท : คน : ครั้ง)
     กลุ่มที่ 1 : รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่                      10,000
     กลุ่มที่ 2 : รัฐวิสาหกิจขนาดปานกลาง                   8,000
     กลุ่มที่ 3 : รัฐวิสาหกิจขนาดเล็ก                       6,000
     กลุ่มที่ 4 : รัฐวิสาหกิจกลุ่มสถาบันการเงิน               10,000
     กลุ่มที่ 5 : รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียน
              ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย      เป็นไปตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

หมายเหตุ

  • รัฐวิสาหกิจจ่ายเบี้ยประชุมได้ไม่เกินเดือนละ 1 ครั้ง เฉพาะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมสำหรับกรณีที่กรรมการรัฐวิสาหกิจได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการชุดย่อยให้ได้รับเบี้ยประชุมในอัตราเหมาจ่ายเป็นรายเดือนเท่ากับเบี้ยกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยหากกรรมการรัฐวิสาหกิจท่านใดได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดย่อยอื่นๆ มากกว่า 1 คณะ ก็ให้ได้รับเบี้ยประชุมเพียงคณะใดคณะหนึ่งเท่านั้น สำหรับกรรมการอื่น ๆ ที่ได้รับแต่งตั้งจากบุคคลภายนอกให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งสูงสุดไม่เกินครั้งละ 1,000 บาท โดยจ่ายเฉพาะครั้งที่มาประชุม

2.2 จากการที่รัฐวิสาหกิจมีภารกิจที่จะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มของกิจการ ทำให้รัฐวิสาหกิจมีขอบเขตในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น โดยสามารถพิจารณาได้จากขนาดของสินทรัพย์ การลงทุนและความซับซ้อนในการดำเนินงาน เป็นต้น ทำให้กรรมการรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลและวางนโยบายการบริหารองค์กรให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาลมีภารกิจและหน้าที่ความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น อีกทั้งต้องใช้ความรู้ความสามารถและมีความเสี่ยงที่ต้องรับผิดต่อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอันเนื่องมาจากหน้าที่ตามกรอบภารกิจ จึงสมควรได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเทียบเคียงภาคเอกชนได้ระดับหนึ่ง เพื่อให้รัฐวิสาหกิจได้กรรมการที่มีคุณภาพ

2.3 สืบเนื่องจากมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 11/2556 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงการคลังรับไปดำเนินการศึกษาแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจและหน้าที่ความรับผิดชอบและเสนอ กนร. ให้ได้ข้อยุติ แล้วจึงเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) พิจารณาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป

2.4 สคร. ได้พิจารณาจัดกลุ่มรัฐวิสาหกิจเพื่อกำหนดอัตราค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมกรรมการโดยพิจารณาจากการประเมินค่างานของรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก โดยปัจจัยต่าง ๆ ในการประเมินค่างานของรัฐวิสาหกิจจะคำนึงถึงดุลยภาพของจำนวนปัจจัยเชิงปริมาณและตัวแปรเชิงคุณภาพ โดยมีปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณา ได้แก่ รายได้ สินทรัพย์ การแสวงหารายได้ การแข่งขันด้านสินค้าและบริการ ความหลากหลายของประเภทธุรกิจ สินค้า และบริการ จำนวนพนักงาน ขั้นตอนการผลิตซับซ้อนหรือใช้เทคโนโลยีสูง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม

2.5 สคร. ในฐานะฝ่านเลขานุการ กนร. ได้เสนอเรื่องหลักเกณฑ์อัตราค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจให้ กนร. พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 4/2556 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2556 ซึ่ง กนร. พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบร่างตามที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ เสนอ โดยให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนสำหรับคณะกรรมการชุดย่อย/คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานอื่นที่แต่งตั้งจากบุคคลภายในของรัฐวิสาหกิจตามความเห็นของผู้แทนคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้

2.5.1 ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2547 เรื่อง การปรับปรุงอัตราเบี้ยกรรมการรัฐวิสาหกิจ

2.5.2 ให้ความเห็นชอบการจัดกลุ่มรัฐวิสาหกิจ อัตราค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมกรรมการ รัฐวิสาหกิจ และหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนและเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการชุดย่อย/คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานอื่น ดังนี้

1) การจัดกลุ่มรัฐวิสาหกิจ

กลุ่มที่ 1 รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การเภสัชกรรม การเคหะแห่งชาติ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

กลุ่มที่ 2 รัฐวิสาหกิจขนาดปานกลาง ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัท ขนส่ง จำกัด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง การกีฬาแห่งประเทศไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สำนักงานธนานุเคราะห์ องค์การสุรา กรมสรรพสามิต องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และองค์การคลังสินค้า

กลุ่มที่ 3 รัฐวิสาหกิจขนาดเล็ก ได้แก่ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด องค์การสวนยาง องค์การสวนสัตว์ องค์การจัดการน้ำเสีย องค์การสะพานปลา องค์การตลาด สถาบันการบินพลเรือน โรงพิมพ์ตำรวจ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ โรงงานไพ่ กรมสรรพสามิต และบริษัท สหโรงแรมไทย จำกัด

กลุ่มที่ 4 รัฐวิสาหกิจกลุ่มสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

กลุ่มที่ 5 รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน)

2) อัตราค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจ

          กลุ่มรัฐวิสาหกิจ                       ค่าตอบแทนรายเดือนไม่เกิน        เบี้ยประชุมรายครั้งไม่เกิน
                                             (บาท : คน : เดือน)            (บาท : คน : ครั้ง)
    กลุ่มที่ 1 : รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่                       10,000                      10,000
    กลุ่มที่ 2 : รัฐวิสาหกิจขนาดปานกลาง                    8,000                       8,000
    กลุ่มที่ 3 : รัฐวิสาหกิจขนาดเล็ก                        6,000                       6,000
    กลุ่มที่ 4 : รัฐวิสาหกิจกลุ่มสถาบันการเงิน                10,000                      10,000
    กลุ่มที่ 5 : รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียน                             เป็นไปตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
             ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

3) หลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนและเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการชุดย่อย/คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานอื่นกำหนดให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนและเบี้ยประชุมให้แก่กรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการชุดย่อย/คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานอื่นที่แต่งตั้งโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

3.1 กรณีคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ให้กรรมการได้รับค่าตอบแทนรายเดือนและเบี้ยประชุม ดังนี้

3.1.1 ค่าตอบแทนรายเดือน : ตามอัตราที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่กรรมการรัฐวิสาหกิจดำรงตำแหน่งไม่เต็มเดือนให้จ่ายค่าตอบแทนรายเดือนตามสัดส่วนระยะเวลาการดำรงตำแหน่งและโดยที่ประธานกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้นำของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต้องเสริมสร้างคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจให้เป็นคณะกรรมการที่มีประสิทธิผล รวมถึงมีภาระหน้าที่ในการพิจารณาจัดเรื่องเข้าวาระการประชุม จัดให้มีการประสานงานระหว่างคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและฝ่ายจัดการ เพื่อให้บทบาทการกำกับดูแลของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและบทบาทการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารมีความชัดเจนและเข้าใจกันเป็นอย่างดี จึงเห็นสมควรให้ประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจได้รับค่าตอบแทนรายเดือนเป็น 2 เท่าของกรรมการรัฐวิสาหกิจ

3.1.2 เบี้ยประชุม : ตามอัตราที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยจ่ายเป็นรายครั้ง เฉพาะกรรมการที่มาประชุม ไม่เกิน 1 ครั้งต่อเดือน

3.2 กรณีคณะกรรมการชุดย่อย/คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานอื่น ที่แต่งตั้งโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ให้ได้รับค่าตอบแทน ดังนี้

3.2.1 กรณีเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ : ให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งในอัตราเท่ากับเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจ เฉพาะกรรมการที่มาประชุม ทั้งนี้ ให้กรรมการรัฐวิสาหกิจได้รับเบี้ยประชุมคณะกรรมการชุดย่อย/คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานอื่น รวมแล้วไม่เกิน 2 คณะ คณะละไม่เกิน 1 ครั้งต่อเดือน

3.2.2 กรณีเป็นบุคคลภายนอก : ให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งในอัตราไม่เกิน 3,000 บาท เฉพาะกรรมการที่มาประชุม

3.2.3 กรณีเป็นบุคลากรภายในของรัฐวิสาหกิจ

(1) กรณีคณะกรรมการชุดย่อย/คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานอื่นที่มิใช่กรณีตามข้อ (2) ให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งในอัตราครั้งละไม่เกิน 3,000 บาท เฉพาะกรรมการที่มาประชุม

(2) กรณีคณะกรรมการชุดย่อย/คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานอื่นที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจหรือฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจ ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เนื่องจากถือเป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่

3.3 ในการจ่ายเบี้ยประชุมให้ประธานกรรมการและรองประธานกรรมการได้รับเบี้ยประชุมสูงกว่ากรรมการในอัตราร้อยละ 25 และ 12.5 ของเบี้ยประชุมดังกล่าว ทั้งนี้ กรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นผู้รับภาระภาษีเงินได้เอง

3.4 สำหรับบริษัทลูกและบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่แล้วให้ถือปฏิบัติตามอัตราและหลักเกณฑ์ที่แต่ละแห่งใช้อยู่ตามเดิม แต่ทั้งนี้ หากยังไม่มีหลักเกณฑ์ถือปฏิบัติหรือจะจัดตั้งขึ้นใหม่และมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจให้กำหนดอัตราไม่เกินรัฐวิสาหกิจแม่ โดยให้ขอความเห็นชอบ จากกระทรวงการคลัง

2.5.3 อัตราค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมข้างต้นเป็นอัตราขั้นสูงสุดในการพิจารณากำหนดและปรับปรุงค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการชุดย่อย/คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานอื่น ซึ่งรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะต้องพิจารณาถึงฐานะการเงิน และความสามารถในการจ่ายขององค์กรเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐวิสาหกิจที่ใช้เงินงบประมาณขอให้พิจารณาถึงความเหมาะสมและภาระของงบประมาณประกอบด้วย เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อฐานะการเงินขององค์กร

2.5.4 ให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจกำกับการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การพัฒนาการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจดียิ่งขึ้น และให้สามารถเทียบได้กับมาตรฐานสากล

2.5.5 ให้มีผลใช้บังคับถัดจากเดือนที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กรกฎาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ