คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการดำเนินการที่ผ่านมาของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกันยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดสาระสำคัญ และวิธีการดำเนินการ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลฯ มีผลสำเร็จของการดำเนินการที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้
1) ด้านการปลุกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักรู้ : สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประกาศ “ยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 และจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคประชาชน ณ ลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2555 รวมทั้ง ออกสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อรณรงค์ สร้างความตระหนัก และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการต่อต้านการทุจริตทั้ง สื่อสิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ วิทยุ และโทรทัศน์ นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ได้จัดคาราวานสัญจร 4 ภูมิภาค เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ โดยระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนกันยายน 2555 ได้สัญจรไปยังภาคตะวันออกที่จังหวัดตราด ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้ที่จังหวัดภูเก็ต และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น
2) ด้านการพัฒนาองค์การ : สำนักงาน ก.พ.ร. ส่งเสริมให้ส่วนราชการพัฒนาสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ โดยดำเนินโครงการสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ (1 กรม 1 ป้องกันโกง) ซึ่งให้ส่วนราชการระดับกรมจำนวน 144 ส่วนราชการ และส่วนราชการระดับจังหวัด 76 จังหวัด ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกระบวนงาน เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่เป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต รวมทั้งเสนอแนะให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ประจำกระทรวง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการทำหน้าที่บูรณาการและขับเคลื่อนแผนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในส่วนราชการ และเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ท. และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3) ด้านการตรวจสอบ เฝ้าระวังเชิงรุก : สำนักงาน ป.ป.ท. เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption War Room) โดยเปิดสายด่วนรับเรื่องร้องเรียนการทุจริต “1206” เพื่อเป็นการบูรณาการการตรวจสอบ รับแจ้งเบาะแสและเรื่องร้องเรียน ป้องกัน ปราบปราม อย่างเบ็ดเสร็จ นอกจากนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. ยังได้จัดทำเว็บไซต์ www.stopcorruption.go.th และติดตั้งตู้รับเรื่องร้องเรียนการทุจริต ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีช่องทางในการร้องเรียน และมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอีกด้วย
4) ด้านการปราบปรามที่จริงจังและการลงโทษที่เข้มงวด : สำนักงาน ป.ป.ท. เป็นเจ้าภาพหลัก บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานป้องกันและปราบรามการฟอกเงิน ร่วมกันเร่งดำเนินคดีปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อยู่ในความสนใจและเผยแพร่ผลการดำเนินการต่อสาธารณะ เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น
5) การดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง : สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้ขับเคลื่อนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. .... ทั้ง 2 ฉบับแล้วเสร็จ และได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นต้นมา รวมทั้งให้มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมจริยธรรมขึ้นในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมให้ข้าราชการยึดถือปฏิบัติตามหลักคุณธรรม จรรยาข้าราชการ และประมวลจริยธรรมอีกด้วย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กรกฎาคม 2556--จบ--