1. รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56
2. เห็นชอบมาตรการการป้องกันการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด
3. เห็นชอบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวและเพิ่มรายได้ให้ชาวนา (Zoning)
สาระสำคัญของเรื่อง
1. คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้คงราคารับจำนำข้าวเปลือกโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ณ ความชื้น 15%ไว้เท่าเดิมคือ ข้าวเปลือกเจ้า 100% ราคาตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท โดยจะรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรในปริมาณที่ไม่เกินที่ระบุไว้ในใบรับรองเกษตรกรที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกให้ และวงเงินรับจำนำรายละไม่เกิน 500,000 บาท/รอบ ตามที่ กขช. มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 ทั้งนี้ การกำหนดราคารับจำนำดังกล่าวให้มีผลย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป สำหรับระยะเวลาการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 จะสิ้นสุดวันที่ 15 กันยายน 2556 ยกเว้นภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556
2. มาตรการป้องกันการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเปลือก มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้
2.1 คณะทำงานตรวจสอบการรับจำนำข้าวเปลือกฯ เร่งรัดการตรวจสอบข้าวที่คลังกลางที่อยู่ระหว่างการรมยา โรงสีและคลังกลางที่ต้องมีการตรวจซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
2.2 กรณีตรวจสอบพบการกระทำความผิด ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญาโดยเด็ดขาด และรายงานผลการดำเนินการให้ กขช. ทราบต่อไป
2.3 มอบหมายให้หน่วยปฏิบัติได้แก่ อคส.และ อ.ต.ก.จัดทำบัญชีแสดงการเคลื่อนไหวของข้าวเปลือกที่รับจำนำและข้าวสารที่สีแปรสภาพและส่งมอบเข้าคลังกลาง โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปี 2554/55 โครงการนาปรัง ปี 2555 และโครงการ ปี 2555/56 รอบที่ 1 ตั้งแต่ วันที่ 31 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 เพื่อจัดส่งให้ประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาล และฝ่ายเลขานุการ กขช.
2.4 มอบหมายคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ นำผลการตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบการรับจำนำข้าวเปลือกฯ และข้อมูลบัญชีแสดงการเคลื่อนไหว ของ อคส.และ อ.ต.ก.ตามข้อ 2.3 ไปปรับปรุงข้อมูลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/55 โครงการนาปรัง ปี 2555 และโครงการปี 2555/56 รอบที่ 1 ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 และวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 เพื่อนำเสนอ กขช. โดยเร็วต่อไป
2.5 มอบหมายให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ตรวจสอบและรายงานผลการรับจำนำข้าวเปลือกและสต็อกทั้งที่โรงสีและที่โกดังกลาง และรายงานให้ฝ่ายเลขานุการกขช. ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน เพื่อฝ่ายเลขานุการ กขช. จะได้สรุปและรายงานคณะรัฐมนตรีทราบภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน
2.6 เพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกฯ ดำเนินการต่อไปด้วยความรอบคอบ สุจริต และโปร่งใสให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าวนำปัญหาที่เกิดขึ้น และข้อกังวลของสาธารณชนในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นไปปรับปรุงหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลโครงการรับจำนำ เช่นให้มีการติดกล้อง CCTV เพื่อให้สาธารณชนสามารถร่วมตรวจสอบได้ด้วย การออกใบประทวนออนไลน์ของ อคส./อ.ต.ก. การจ่ายเงินของ ธ.ก.ส. และการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับและป้องการทุจริตติดตามการรับจำนำข้าวเปลือกและการส่งมอบข้าวสารโดยเพิ่มความเข้มงวดกวดขันในการติดตามกำกับดูแลและเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบทั้งโรงสี และโกดังกลาง เพื่อป้องกันการทุจริตสวมสิทธิเกษตรกร และการนำข้าวสารมาหมุนเวียนส่งมอบเข้าคลังกลาง ทั้งนี้ ให้ อคส. และ อ.ต.ก. ดำเนินการกับโรงสีและโกดังกลางตามหลักเกณฑ์และสัญญาโดยเคร่งครัด กรณีตรวจสอบพบการทุจริตให้ดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญา รวมทั้งเรียกค่าปรับ โดยให้หักจากวงเงินค้ำประกันและสั่งการให้ ตำรวจ ทหาร ตชด. ตรวจตราบริเวณชายแดนอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าข้าวต่างประเทศมาสวมสิทธิ
2.7 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เช่น อคส. อ.ต.ก. ธ.ก.ส. กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการค้าภายในกำกับดูแลและตรวจสอบการรับจำนำข้าวเปลือกให้อยู่ในปริมาณและวงเงินตามข้อ 1. และหากตรวจพบการทุจริตให้ดำเนินการอย่างเฉียบขาด
3. การเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวและเพิ่มรายได้ให้ชาวนา (Zoning) เห็นชอบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวและเพิ่มรายได้ให้ชาวนา (Zoning) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ซึ่งได้กำหนดเขตความเหมาะสมมาก จำนวน 17.346 ล้านไร่และเหมาะสมปานกลาง จำนวน 26.572 ล้านไร่ รวมทั้งประเทศ 43.918 ล้านไร่ โดยผลผลิตเฉลี่ยในเขตชลประทาน700 กิโลกรัมต่อไร่ขึ้นไป นอกเขตชลประทานแต่อยู่ในเขต Zoning ประมาณ 500 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีการพัฒนาคุณภาพข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดจัดระบบการปลูกข้าวในเขตพื้นที่ชลประทาน และสนับสนุนเมล็ดพันธุ์และปัจจัยอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเพื่อเป็นมาตรการจูงใจ โดยจะดำเนินการปรับระบบการปลูกข้าวปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ไร่ และจะหมุนเวียนพื้นที่จัดระบบการปลูกข้าวดังกล่าวในเขตชลประทานแต่ละปี
ทั้งนี้ จะเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย และผู้ประกอบการ เพื่อร่วมดำเนินการขับเคลื่อนในทุกๆ ด้านผ่านมาตรการจูงใจ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้พิจารณาตัดสินใจปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มรายได้ของเกษตรกรตามความต้องการของตนเอง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กรกฎาคม 2556--จบ--