หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full powers)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 3, 2013 14:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full powers) และให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ซึ่งวางแนวทางเกี่ยวกับการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ

หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full powers) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ในการจัดทำหนังสือสัญญาต่าง ๆ ในนามรัฐบาลไทยหรือราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ รัฐต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ที่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ หากผู้ลงนามหนังสือสัญญามิใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ลงนามต้องได้รับหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full powers) ทั้งนี้ ให้กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการลงนามหนังสือสัญญาดังกล่าวและเห็นชอบให้ กต. ดำเนินการจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full powers) อย่างไรก็ดีหากในทางปฏิบัติเป็นที่ยอมรับกันระหว่างคู่ภาคีของความตกลงว่า ผู้ลงนามไม่จำเป็นต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full powers) ให้กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องแจ้งคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทางปฏิบัติดังกล่าวด้วย

2. การจัดทำความตกลงในนามกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐอื่นใดกับหน่วยงานของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานนั้น ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการจัดทำความตกลงระดับหน่วยงาน ให้ผู้มีอำนาจลงนามของหน่วยงานนั้น หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามโดยไม่ต้องขอรับหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full powers)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กรกฎาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ