1. รัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรียเสนอขอแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทยว่า รัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรียมีความประสงค์ขอแต่งตั้ง นายเอนโน โดรฟีนิก (Mr. Enno Drofenik) ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทยคนใหม่ โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงเทพมหานคร สืบแทน นายโยฮันเนิส เปเทอร์ลิค (Mr. Johannes Peterlik) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
2. แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ตามลำดับ ดังนี้ 1. พลเอก พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 2. นายพ้อง ชีวานันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
3. แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ ตามลำดับ ดังนี้ 1. นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2. นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4. แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้มีผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ตามลำดับ ดังนี้ 1. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี 2. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย
5. แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งนายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
6. แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในกรณีที่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ตามลำดับ ดังนี้ 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายสรวงศ์ เทียนทอง) ทั้งนี้ ให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้วย
7. การปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 159 / 2556 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี รวม 3 คณะ
โดยที่สมควรปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 336/2555 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2555 เพื่อให้การพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีมีการตรวจสอบ กลั่นกรองข้อมูลความจำเป็น ความเหมาะสม และความสอดคล้องกับนโยบายของคณะรัฐมนตรีและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นระบบและรอบคอบรัดกุม
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ประกอบกับมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่อง และการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 336/2556 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2555 และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี รวม 3 คณะโดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
1. คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ)
1.1 องค์ประกอบ รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) รองนายกรัฐมนตรี (นายยุคล ลิ้มแหลมทอง) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวราเทพ รัตนากร) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองประจำรองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมอบหมาย และรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
1.2 อำนาจหน้าที่
1) พิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญในปัญหาที่เกี่ยวพัน หรือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม รวมทั้งด้านการเงิน การคลัง การภาษีอากร สถาบันการเงิน การลงทุน การผลิต การหารายได้เข้าประเทศการนำเข้าและส่งออกสินค้า นโยบายรัฐวิสาหกิจ และการพลังงาน รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในภาพรวมอื่น เช่น กองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และเรื่องสำคัญในปัญหาที่เกี่ยวพันหรือเรื่องที่มีผลกระทบด้านการท่องเที่ยวและกีฬา การเกษตร การคมนาคม หรือเรื่องที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน การสงวน อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการและการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีและการสื่อสาร การพลังงาน วิทยาศาสตร์ และการอุตสาหกรรม ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี
2) ประเมิน วิเคราะห์ และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางตัดสินใจเชิงรุกในประเด็นนโยบายตามข้อ 1) ตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีและบทบัญญัติ ในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
3) ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน ดังนี้
3.1) แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
3.2) ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็ง
อย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค
3.3) ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล
3.4) ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน
3.5) ยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน
3.6) เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ
3.7) ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและเร่งรัดขยายเขตพื้นที่ชลประทาน
4) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
5) มีอำนาจเชิญรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่นๆ มาชี้แจง
1.3 ในกรณีคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) มีการพิจารณาเศรษฐกิจในภาพรวมที่เกี่ยวพัน หรือมีผลกระทบถึง ด้านการต่างประเทศ ด้านแรงงาน รวมถึงเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจในภาพรวม ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเข้าร่วมประชุม เป็นกรรมการในคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ด้วย
2. คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ฝ่ายสังคม และกฎหมาย)
2.1 องค์ประกอบ รองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) เป็นประธานกรรมการรองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) รองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสันติ พร้อมพัฒน์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองประจำรองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมอบหมาย และรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย
2.2 อำนาจหน้าที่
1) พิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญในปัญหาที่เกี่ยวพันหรือมีผลกระทบต่อด้านสังคม ด้านแรงงาน ด้านวัฒนธรรม ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านกฎหมาย การพัฒนาสังคม การพัฒนาองค์กรชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ และการคุ้มครองผู้บริโภค ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี
2) ประเมิน วิเคราะห์ และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางตัดสินใจเชิงรุกในประเด็นนโยบายตามข้อ 1) ตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีและบทบัญญัติ ในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
3) ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน ดังนี้
3.1) สนับสนุนการพัฒนางานศิลปหัตถกรรม และผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการสร้างเอกลักษณ์และการผลิตสินค้าในท้องถิ่น
3.2) พัฒนาระบบประกันสุขภาพ
3.3) เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
4) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
5) มีอำนาจเชิญรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่นๆ มาชี้แจง
3. คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 (ฝ่ายความมั่นคงและต่างประเทศ)
3.1 องค์ประกอบ รองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก) เป็นประธานกรรมการรองนายกรัฐมนตรี (นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) รองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสันติ พร้อมพัฒน์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองประจำรองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
3.2 อำนาจหน้าที่
1) พิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญในปัญหาที่เกี่ยวพันหรือ มีผลกระทบต่อด้านความมั่นคง การทหาร การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การป้องกัน และปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การต่างประเทศ แรงงานต่างด้าว กระบวนการยุติธรรม การพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับศาล องค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ
2) ประเมิน วิเคราะห์ และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางตัดสินใจเชิงรุกในประเด็นนโยบายตามข้อ 1) ตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีและบทบัญญัติ ในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
3) ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน ดังนี้
3.1) สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ และฟื้นฟูประชาธิปไตย
3.2) เร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
3.3) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง
3.4) กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดเป็น “วาระแห่งชาติ”
3.5) เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ
4) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
5) มีอำนาจเชิญรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่นๆ มาชี้แจง
4. รองนายกรัฐมนตรีทุกคนจะเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดังกล่าวก็ได้ตามที่เห็นสมควร ในกรณีเช่นนี้ ให้รองนายกรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมเป็นกรรมการด้วย
5. ในกรณีเห็นสมควร คณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ ตามคำสั่งนี้จะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ทุกคณะร่วมกัน เพื่อพิจารณาปัญหาคาบเกี่ยวให้เกิด ความรอบคอบ ชัดเจน และมีการประสานสอดคล้องกันก็ได้
6. เรื่องใดที่ประธานกรรมการกลั่นกรองฯ คณะใดเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องหรืออยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ คณะอื่นที่ไม่ใช่คณะของตน ให้ประธานกรรมการกลั่นกรองฯ คณะนั้นมีอำนาจสั่งการให้เสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ตามที่เห็นสมควรเป็นผู้พิจารณาได้
7. กรณีคณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีมติประการใด ให้ประธานกรรมการหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมคราวนั้น หรือรองประธานกรรมการ เป็นผู้ลงนามในบันทึกเสนอมติคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ต่อนายกรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติให้เสนอคณะรัฐมนตรี ดังนี้
7.1 ทราบ หรือ
7.2 พิจารณาแล้วแต่กรณี เว้นแต่นายกรัฐมนตรีจะเห็นควรดำเนินการเป็นประการอื่น
8. ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อำนวยความสะดวกในการประชุมคณะกรรมการทุกคณะตามคำสั่งนี้ และมีอำนาจออกระเบียบหรือคำสั่งที่จำเป็นเพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
9. ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอาจขอให้นายกรัฐมนตรีวินิจฉัยหรือสั่งการตามที่เห็นสมควรได้
10. บรรดาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี รวม 5 คณะ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 336/2555 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี รวม 5 คณะ ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2555 ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีประสานกับรองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ทั้ง 3 คณะ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ระหว่างการจัดเข้าระเบียบวาระฯ ของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ทั้งหมด ให้เหมาะสม สอดคล้องกับกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่ด้วย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กรกฎาคม 2556--จบ--