1. รับทราบผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 4/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2556 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2. เห็นชอบตามมติที่ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 4/2556 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติที่ประชุมตามข้อ 2 รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 4/2556 ซึ่งได้มีการพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย รวม 4 เรื่อง 19 ประเด็น สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การส่งเสริมการค้าและการลงทุน (เสนอโดย กกร.)
1.1 ข้อเสนอ
1) ขอให้สนับสนุนโครงการ “พัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงโคนมและนมอินทรีย์ครบวงจร” ประกอบด้วย การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์ การจัดตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์สำหรับโคนม และการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าผลิตภัณฑ์นมสู่อินโดจีน เพื่อการพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์นมโคสดที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
2) ขอให้พิจารณาทบทวนประกาศกฎกระทรวงมหาดไทย “ให้ใช้บังคับผังเมืองรวม” โดย (1) ขอให้ยกเลิกพื้นที่สีเขียวในผังเมืองรวมพระนครศรีอยุธยา ช่วงบ้านกรด-คลองข้าวเม่า ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของถนนสายเอเชีย โดยให้ขยายสีของผังเมืองเหลืองและส้มตามผังเมืองเดิม และขอยกเลิกข้อห้ามการสร้างอาคารขนาดใหญ่ในผังเมืองรวมเมืองพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2552 ทุกสี (เหลือง, ส้ม, แดง) และ (2) ขอให้ปรับปรุงแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ตามประกาศกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี พ.ศ. 2554 ให้มีความสอดคล้องกับสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน และตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
3) ขอให้สนับสนุนโครงการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตร — Agro Industry Commodity (Model: ข้าว) โดย (1) จัดทำกฎหมายเพื่อรองรับการรวมกลุ่มของเกษตรกรและการจัดรูปที่ดินใหม่ (2) สนับสนุนเงินทุนขั้นต้น โดยให้เงินกู้ยืมผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แก่กลุ่มเกษตรกรเพื่อดำเนินโครงการ กลุ่มละประมาณ 25-30 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3-5 ปี เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร สร้างโรงอบข้าว ไซโลเก็บข้าวและโรงสีข้าวชุมชน และ (3) สนับสนุนและให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับการจัดการและดูแลมาตรฐานการผลิตข้าว การทำการตลาดของข้าวสารที่เน้นเอกลักษณ์ของข้าวท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นถิ่น
1.2 มติที่ประชุม
1) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมรับไปพิจารณาในรายละเอียดของความคุ้มค่าและความเหมาะสมของโครงการพัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงโคนมและนมอินทรีย์ครบวงจร โดยเฉพาะรูปแบบและกลไกการบริหารจัดการที่ไม่เป็นต่อภาระงบประมาณของรัฐในอนาคต รวมทั้งให้พิจารณาความเชื่อมโยงกับกลไกดำเนินงานที่มีอยู่ในพื้นที่ด้วย
2) มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย รับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ และภาคเอกชน เพื่อปรับปรุงประกาศกฎกระทรวงใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดสระบุรีตามขั้นตอนต่อไป
3) มอบหมายให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รับไปจัดทำรายละเอียดคำร้องพร้อมเหตุผลการขอเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินต่อเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เพื่อประกอบการปรับปรุงผังเมืองรวมพระนครศรีอยุธยาต่อไป และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณาเร่งรัดขั้นตอนการปรับปรุงประกาศกฎกระทรวงใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีตาม พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
4) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของโครงการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตรตามที่ภาคเอกชนเสนอ รวมทั้งรูปแบบการบริหารจัดการของโครงการอย่างยั่งยืน และความเชื่อมโยงกลไกดำเนินการที่มีอยู่ในพื้นที่
2. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ (เสนอโดย กกร.)
2.1 ข้อเสนอ
1) ขอให้เร่งรัดโครงการ 3 เส้นทาง ประกอบด้วย (1) ถนนวงแหวนต่างระดับ สาย 9 ตัด 340 และ ตัด 345 เชื่อมโยงจังหวัดนนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี (2) ทางด่วนโทลเวย์ (รังสิต-ประตูน้ำพระอินทร์) ให้เสร็จภายในปี 2558 และ (3) ก่อสร้างเส้นทางหมายเลข 32 ต่อเชื่อมกับสถานีรถไฟมาบพระจันทร์ ที่อำเภอนครหลวง (สถานีขนส่งสินค้า)
2) ขอให้เร่งรัดการขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร 3 เส้นทาง ได้แก่ (1) ถนนเลียบคลองเจ็ด ฝั่งตะวันตก (ปท. 3004) อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 10.4 กิโลเมตร (2) เส้นทางหมายเลข 329 (มาจากหินกอง) ช่วง อำเภอนครหลวง-อำเภอบางปะหัน เพื่อการขนส่งลงทางน้ำของแม่น้ำป่าสัก และ (3) ถนน 3056 อำเภอภาชี-อำเภออุทัย-อำเภอบางปะอิน ชนหมายเลข 32 เส้นทางหลักของทางออกนิคมอุตสาหกรรมโรจนะไปกรุงเทพมหานคร
3) ขอให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างขยายถนนหมายเลข 9 จากแยกทางต่างระดับ 340 (จังหวัดนนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี) จาก 4 ช่องจราจรเป็น 10 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร (ถนนกาญจนาภิเษกหรือวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก ไปจนถึงถนนพหลโยธิน)
4) ขอให้ขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงจากบางใหญ่-ไทรน้อย (2.5 กิโลเมตร) และเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูบนถนนชัยพฤกษ์ ระยะทาง 9 กิโลเมตร (สายสีทอง)
5) ขอให้สนับสนุนโครงการศึกษา จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) การปรับปรุงสะพานนวลฉวี เพื่อการสัญจรทางน้ำ และ (2) การยกระดับเส้นทางรถไฟ เพื่อการแก้ไขปัญหาการจราจร กรณีเส้นทางรถไฟผ่ากลางเมือง จังหวัดสระบุรี
2.2 มติที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม รับไปพิจารณา ดังนี้
1) เร่งรัดโครงการก่อสร้างถนน 3 เส้นทาง การขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร 3 เส้นทาง และโครงการก่อสร้างขยายถนนหมายเลข 9 จากแยกทางต่างระดับ 340 (จังหวัดนนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี) จาก 4 ช่องจราจรเป็น 10 ช่องจราจร ตามที่ภาคเอกชนเสนอ ไปประกอบการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของเส้นทางตามความจำเป็นและความเร่งด่วนเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีหรือการสนับสนุนจากแหล่งเงินกู้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ตามขั้นตอนต่อไป โดยให้พิจารณาข้อจำกัดของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย
2) รับข้อเสนอการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงจากบางใหญ่-ไทรน้อย (2.5 กิโลเมตร) และเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูบนถนนชัยพฤกษ์ ระยะทาง 9 กิโลเมตร (สายสีทอง) ไปพิจารณาการออกแบบในภาพรวม โดยอาจดำเนินการจัดระบบขนส่งผู้โดยสารเพื่อเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าทั้งสองสายด้วย
3) รับข้อเสนอการสนับสนุนโครงการศึกษา 2 โครงการ ได้แก่ (1) การปรับปรุงสะพานนวลฉวี เพื่อการสัญจรทางน้ำ และ (2) การยกระดับเส้นทางรถไฟ เพื่อการแก้ไขปัญหาการจราจร กรณีเส้นทางรถไฟผ่ากลางเมือง จังหวัดสระบุรี ไปประกอบการศึกษาความเหมาะสมและความจำเป็นของโครงการ รวมทั้งพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการตามความจำเป็นและความเร่งด่วนเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณจากแหล่งเงินที่เหมาะสมต่อไป
3. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (เสนอโดย กกร.)
3.1 ข้อเสนอ
1) ขอให้ดำเนินโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองบางบัวทอง ตำบลท่าอิฐ ตำบลอ้อมเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
2) ขอให้พัฒนาเส้นทางขนส่งทางน้ำในแม่น้ำป่าสัก (อำเภอเสาไห้-อำเภอนครหลวง) โดย (1) เร่งดำเนินการสร้างเขื่อนทั้ง 12 แห่ง ใน อำเภอท่าเรือ และ อำเภอนครหลวง และขุดลอกลำน้ำ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 (2) พัฒนาเส้นทางคมนาคมในแม่น้ำป่าสักบริเวณเหนือ อำเภอท่าเรือ ถึงบางปะอิน ถึงอำเภอเสาไห้ (3) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่งทางน้ำให้ครบทั้งระบบ (4) บูรณาการโครงการป้องกันน้ำท่วมในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโครงการผันน้ำในพื้นที่ต่างๆ เข้ากับโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในแม่น้ำป่าสัก และ (5) ผลักดันให้ผู้เกี่ยวข้องจัดทำแผนรองรับผลกระทบ และจัดทำโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการต่อชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาท่าเรือและขนส่งทางน้ำจากชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ
3.2 มติที่ประชุม
1) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปพิจารณาในรายละเอียดของโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองบางบัวทอง และเสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามข้อเสนอของภาคเอกชนต่อไป ทั้งนี้ ในการดำเนินการต้องทำความเข้าใจกับประชาชนและให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบและประเมินผลโครงการอย่างใกล้ชิด
2) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นและข้อเสนอแนะของภาคเอกชนไปประกอบการพิจารณาโครงการศึกษาความเหมาะสมของการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังในแม่น้ำป่าสัก และการพิจารณาจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางน้ำได้ตามเป้าหมาย
4. การส่งเสริมการท่องเที่ยว (เสนอโดย กกร./สทท.)
4.1 ข้อเสนอ
1) ขอให้สนับสนุนโครงการพัฒนาศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (หลังเก่า) และโครงสร้างการบริหารจัดการ การจัดระเบียบสถานที่ท่องเที่ยวโบราณสถาน เพื่อเป็นศูนย์บริการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลก (Ayutthaya World Heritage Tourist Service Center)
2) ขอให้พัฒนาถนนสระบุรี-ปากบาง (สบ.4001) เป็นถนนวัฒนธรรมไท-ยวน เพื่อการท่องเที่ยว โดย (1) ปรับภูมิทัศน์ถนนสายวัฒนธรรมโดยใช้อัตลักษณ์ชุมชนไท-ยวนเป็นจุดเด่นระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร (2) ปรับปรุงป้ายประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวตลอดเส้นทาง ซุ้มทางเข้าและจัดให้มีรถรางนำเที่ยว และ (3) ให้มีอาคารศูนย์ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมลุ่มน้ำป่าสักสระบุรี
4.2 มติที่ประชุม
1) มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปหารือร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดโดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับแผนแม่บทการอนุรักษ์พัฒนาและฟื้นฟูประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแนวทางการบริหารจัดการศูนย์บริการนักท่องเที่ยวให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยวอยุธยาเมืองมรดกโลก รวมทั้งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
2) มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พิจารณาในรายละเอียดการพัฒนาถนนวัฒนธรรมไท-ยวนเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรม การเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมภายในกลุ่มจังหวัดและการส่งเสริมด้านการตลาดด้วย
5. เรื่องอื่นๆ รวม 6 เรื่อง ดังนี้ (เสนอโดย สทท./กกร.)
5.1 การเร่งรัดการวางแผนการบริหารจัดการสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูเก็ต เพื่อเตรียมรองรับ High Season
1) ข้อเสนอ
ขอให้เร่งรัดการวางแผนการบริหารจัดการสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูเก็ต เพื่อเตรียมรองรับ High Season โดย (1) ขอความชัดเจนในการแก้ไขปัญหารองรับนักท่องเที่ยวของสนามบินภูเก็ต/กระบี่ (2) ขอให้สนามบินดอนเมืองเปิดใช้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของ Ground Handling Service ทั้งระบบ และ (3) ในส่วนระยะยาว ให้รัฐบาลควบคุมการดำเนินการส่วนต่อขยายทั้งสองสนามบินให้แล้วเสร็จทันตามเวลาที่กำหนด
2) มติที่ประชุม
(1) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบเดียวกับที่เคยใช้แก้ไขปัญหากรณีท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เพื่อแก้ไขปัญหาแออัดรองรับนักท่องเที่ยวของท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตให้ทันกับฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมาถึง
(2) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมประสานบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการเสนอแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานภูเก็ต โดยเฉพาะในด้านการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะเดินทางสู่กรุงเทพมหานคร โดยคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาด้านผลกระทบของสิ่งแวดล้อมโดยรอบของท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิด้วย
5.2 แนวทางการรณรงค์เพื่อดำเนินการด้านการใช้แรงงานเด็กและการใช้แรงงานบังคับ (ตามรายงานกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กและการใช้แรงงานบังคับ)
1) ข้อเสนอ
ขอให้พิจารณาแนวทางการรณรงค์เพื่อดำเนินการด้านการใช้แรงงานเด็กและการใช้แรงงานบังคับ (ตามรายงานกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กและการใช้แรงงานบังคับ) ประกอบด้วย (1) ควรบังคับใช้กฎหมายด้านการใช้แรงงานเด็กและการใช้แรงงานบังคับอย่างจริงจัง (2) ควรกำหนดให้มีศูนย์กลางหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการใช้แรงงานเด็กและการใช้แรงงานบังคับที่ชัดเจนเพียงแห่งเดียว (3) ควรกำหนดขั้นตอนในการว่าจ้างแรงงานต่างด้าวในแต่ละประเภทอุตสาหกรรมให้ชัดเจน (4) ควรเร่งรัดประชาสัมพันธ์และรณรงค์เรื่องการใช้แรงงานเด็กและการใช้แรงงานบังคับที่ถูกต้อง มีกระบวนการตรวจสอบและประเมินผล รวมทั้งการออกหนังสือรับรองให้แก่สถานประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมาย และ (5) ขอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงานเพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและการใช้แรงงานบังคับร่วมกับหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง
2) มติที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับไปพิจารณาหาแนวทางและมาตรการป้องกันและแก้ไขร่วมกัน โดยใช้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม ตลอดจนเผยแพร่แนวปฏิบัติด้านการใช้แรงงานที่ดีเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของอุตสาหกรรมและประเทศชาติต่อไป
5.3 การทบทวนเกณฑ์การรวมธุรกิจที่ต้องขออนุญาต ตามบทบัญญัติมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542
1) ข้อเสนอ
ขอให้ทบทวนเกณฑ์การรวมธุรกิจที่ต้องขออนุญาต ตามบทบัญญัติมาตรา 26 แห่ง พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ดังนี้ (1) เกณฑ์การรวมธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องขออนุญาตก่อน ควรพิจารณากำหนดส่วนแบ่งตลาด และยอดขาย รวมทั้งสัดส่วนการเข้าซื้อหรือได้มาซึ่งหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นกว่านี้ (2) ควรกำหนดข้อยกเว้นสำหรับการควบรวมหรือการซื้อขายหุ้นในบางกรณี เช่น การควบรวม หรือการซื้อหุ้นระหว่างบริษัทในเครือ และกรณีที่การควบรวมกิจการนั้นๆ ไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการแข่งขัน เป็นต้น และ (3) ควรกำหนดแนวปฏิบัติ (Guideline) ที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้ และเผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนมีความรู้ความเข้าใจที่ตรงกัน
2) มติที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) รับไปพิจารณาการกำหนดแนวทางการหารือเพื่อทบทวนเกณฑ์การรวมธุรกิจที่ต้องขออนุญาต ตามบทบัญญัติมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 โดยการพิจารณาให้คำนึงถึงผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในทุกระดับทั้งระบบร่วมกัน
5.4 การแก้ไขพระราชบัญญัติศุลกากรในประเด็นว่าด้วยโทษสำหรับกรณีที่ไม่ได้มีเจตนาหรือหลีกเลี่ยงภาษี
1) ข้อเสนอ
ขอให้พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ในประเด็นว่าด้วยโทษสำหรับกรณีที่ไม่ได้มีเจตนาหรือหลีกเลี่ยงภาษี โดย (1) ปรับปรุงบทลงโทษทางศุลกากรให้เหมาะสม ได้แก่ แยกฐานความผิดที่เกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิค เช่น การนำเข้าของต้องกำกัด โดยไม่ขอใบอนุญาตก่อนการนำเข้าออกจากฐานความผิดอื่นๆ ตามมาตรา 27 และกำหนดอัตราโทษสำหรับฐานความผิดต่างๆ ที่แยกออกมา เช่น ฐานความผิดที่เกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิค รวมทั้งควรกำหนดบทลงโทษให้เหมาะสมโดยควรพิจารณาบทลงโทษที่ไม่เกินโทษตามกฎหมายหลักของการไม่ขอใบอนุญาตการนำเข้าสินค้าต้องกำกัดนั้นๆ เป็นต้น และ (2) ขอให้พิจารณายกเลิกมาตรการให้เงินสินบนและรางวัลนำจับ โดยเฉพาะกรณีความผิดมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร แต่เป็นกรณีที่เกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิค เช่น การนำเข้าของต้องกำกัดโดยไม่ได้ขอใบอนุญาตนำเข้าก่อนการนำเข้าจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
2) มติที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาความเหมาะสมทั้งการปรับปรุงบทลงโทษทางศุลกากรตามฐานความผิด รวมทั้งเร่งการทบทวนการปรับลดเงินรางวัลสินบนจากเงินค่าขายของกลางลง โดยคำนึงถึงหลักความโปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งป้องกันมิให้เกิดการเรียกร้องผลประโยชน์นอกระบบ
5.5 การขอให้ออกกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งในฝ่ายลูกหนี้และเจ้าหนี้เป็นการถาวร
1) ข้อเสนอ
ขอให้ออกกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งในฝ่ายลูกหนี้และเจ้าหนี้เป็นการถาวร
2) มติที่ประชุม
เห็นชอบในหลักการและมอบหมายกระทรวงการคลังหารือร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาในรายละเอียดการออกกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้จากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
5.6 การเร่งรัดขั้นตอนและกระบวนการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้า
1) ข้อเสนอ
ขอให้เร่งรัดขั้นตอนและกระบวนการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้า
2) มติที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักหารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย และภาคเอกชน เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนและกระบวนการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้า รวมทั้งให้พิจารณาสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำของชุมชนด้วย
6. การเตรียมพร้อมด้านกำลังคนเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (เสนอโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ)
6.1 ข้อเสนอ
ขอให้ภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดคุณลักษณะของกำลังคนและหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตและบริการในอนาคต รวมทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ
6.2 มติที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักในการจัดประชุม เชิงปฏิบัติการ ร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดคุณลักษณะของกำลังคนและหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตและบริการในอนาคต รวมทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 กรกฎาคม 2556--จบ--