คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ข้อเท็จจริง
สคก. เสนอว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอเสร็จแล้ว โดยได้แก้ไขชื่อร่างพระราชบัญญัติเป็น “ร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. ....” เพื่อให้สอดคล้องและครอบคลุมกับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมและการกำกับดูแลการทวงถามนี้ และปรับปรุงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติโดยนำข้อสังเกตและความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้ “ผู้ทวงถามหนี้” หมายความว่า ผู้ให้สินเชื่อ หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้สินเชื่อหรือผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ และให้ความหมายรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย
2. กำหนดวิธีปฏิบัติในการทวงถามหนี้ เช่น ผู้ที่ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ เว้นแต่บุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้ กำหนดวิธีการทวงถามหนี้และข้อห้ามในการทวงถามหนี้ เป็นต้น
3. กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และให้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการทวงถามหนี้ของผู้ทวงถามหนี้
4. กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม โดยกำหนดให้มีทั้งโทษทางปกครองและโทษทางอาญา
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 สิงหาคม 2556--จบ--