มาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 7, 2013 06:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

มาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ มาตรการด้านการบริโภคภาคเอกชน มาตรการด้านการลงทุนภาคเอกชน มาตรการด้านการใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการด้านการส่งออก โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. มาตรการด้านการบริโภคภาคเอกชน

1.1 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดสัมมนาในประเทศ โดยให้นิติบุคคลสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า ในปีภาษี 2556 และ 2557 สำหรับการจัดสัมมนาภายในประเทศให้แก่ลูกจ้าง ทั้งกรณีที่ดำเนินการเองและกรณีจ้างผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 เฉพาะสำหรับค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าจัดการ ค่าขนส่ง ค่าอาหาร ค่าวิทยากร และค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงการคลัง)

1.2 มาตรการสนับสนุนให้ผู้บริโภคใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นการลงทุนของภาคครัวเรือนที่คุ้มค่าสำหรับการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในอนาคต โดยดำเนินการในรูปแบบของมหกรรมสินค้าประหยัดพลังงานราคาถูก ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐและทุนหมุนเวียนที่มีภารกิจสอดคล้อง (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงพลังงาน หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง: กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์)

2. มาตรการด้านการลงทุนภาคเอกชน

2.1 มาตรการภาษีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ลงทุนซื้อหรือซ่อมแซมทรัพย์สินอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ แต่ไม่รวมถึงยานพาหนะ สามารถหักค่าเสื่อมในอัตราเร่งที่ร้อยละ ๕0 ของมูลค่าทรัพย์สินในปีแรก และส่วนที่เหลือทยอยหักในระยะเวลา 5 ปี ในการลงทุนในปีภาษี 2556 และ 2557 (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการคลัง)

2.2 มาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco Car) ระยะที่ 2 ผ่านสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยเปิดรับสมัครผู้ผลิตที่มีความสนใจและมีความพร้อมในการลงทุนรายใหม่นอกเหนือจาก 5 รายเดิม ซึ่งอาจมีการกำหนดเงื่อนไขที่เข้มข้นขึ้นกว่าระยะแรก และอาจมีการผ่อนคลายเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรายเดิมลงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเชื่อถือในนโยบายการส่งเสริมของรัฐบาล (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง:กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย (กกร.))

2.3 มาตรการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่เป็นทั้งอาหารและพลังงาน โดยการอำนวยความสะดวกผ่อนปรนกฎระเบียบในการจัดตั้งโรงงานผลิตอาหาร โรงงานน้ำตาล และโรงงานเอทานอล ซึ่งเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับเกษตรโซนนิ่ง (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน)

2.4 มาตรการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รายเล็ก และรายย่อย ได้แก่

(1) มาตรการสินเชื่อและค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเร่งรัดการดำเนินการตามโครงการ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ที่ 240,000 ล้านบาทในช่วง 1 มกราคม 2556 ถึง 31 ธันวาคม 2558 และโครงการ Productivity Improvement Loan ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ในวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ที่ 20,000 ล้านบาทในช่วง 24 เมษายน 2555 ถึง 31 ธันวาคม 2558 โดยขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงการคลัง บสย. และ ธพว. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ)

(2) มาตรการค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการ OTOP และวิสาหกิจชุมชน (สินเชื่อ Micro-finance) โดย บสย. โดยให้ใช้วงเงินรวมกับข้อ 3.2.4 (1) ที่เหมาะสม (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงการคลังและ บสย. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นๆ)

(3) มาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย (สินเชื่อ Nano-finance) โดยอนุญาตให้นิติบุคคลสามารถให้สินเชื่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และแก้ไขปัญหาภาระดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินนอกระบบโดยกำหนดให้ธุรกิจสินเชื่อเพื่อประชาชนรายย่อยสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ตามความเหมาะสมและอยู่ในระดับที่ไม่เป็นภาระมากจนเกินสมควร (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย)

3. มาตรการด้านการใช้จ่ายภาครัฐ

3.1 มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2556

(1) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยในปีงบประมาณ 2556 งบพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดมีวงเงิน 18,090 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2556 สามารถเบิกจ่ายได้เพียง 7,817 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.2 ของงบประมาณที่ได้จัดสรร จึงเห็นควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2556 ในส่วนที่เหลือ (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง)

(2) เร่งรัดการเบิกจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยให้ อปท. ทุกแห่ง เร่งเบิกจ่ายเงินจากรายได้ปีงบประมาณ 2556 ทั้งในส่วนที่จัดเก็บเอง ที่รัฐบาลจัดเก็บให้และแบ่งให้ และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: กระทรวงการคลัง)

(3) เร่งรัดการเบิกจ่ายของกองทุนนอกงบประมาณ โดยเห็นควรเร่งรัดการจ่ายเงินของกองทุนนอกงบประมาณ เช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุน SML กองทุนเศรษฐกิจพอเพียง กองทุนพัฒนาสตรี กองทุนตั้งตัวได้ และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น ให้ลงสู่ระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องระเบียบหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคในการเบิกจ่ายเงิน (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง)

3.2 มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2557

(1) เตรียมความพร้อมในการใช้งบประมาณปี 2557 ในลักษณะเร่งรัดในช่วงแรกของปีงบประมาณ โดยเห็นควรกำหนดเป้าหมายอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2557 ให้สูงกว่าอัตราที่กำหนดในปีงบประมาณ 2556 (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: ทุกส่วนราชการ)

(2) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีของปีงบประมาณ 2556 และปีงบประมาณก่อนหน้า ให้สามารถเบิกจ่ายอย่างมีนัยสำคัญได้ภายในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2557 โดยเฉพาะในส่วนของรายจ่ายประจำที่ก่อหนี้ผูกพันแล้ว (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงการคลัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: ทุกส่วนราชการ)

(3) เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินรางวัลของข้าราชการและลูกจ้างประจำ ประจำปีงบประมาณ 2555 ให้สามารถจ่ายได้ภายในปี 2556 (ไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2556 หรือไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557) (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: ทุกส่วนราชการ)

(4) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบอบรมและสัมมนา โดยกำหนดให้ส่วนราชการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบอบรมสัมมนาในประเทศให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร โดยขอความร่วมมือให้จัดสัมมนากระจายไปตามจังหวัดต่างๆ อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต ภายในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2557 (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: ทุกส่วนราชการ)

4. มาตรการด้านการส่งออก

4.1 การส่งออกสินค้าและการค้าสินค้าระหว่างประเทศ

(1) การเร่งส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) และมลฑลย่อยของประเทศจีน (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: กระทรวงการคลัง)

(2) การสนับสนุนการใช้เงินบาทในการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยผ่อนคลายกฎระเบียบการถือเงินบาทเข้าออกประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าชายแดน (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย)

(3) การส่งเสริมการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) โดยเพิ่มบทบาทเชิงรุกของ ธสน. ในการช่วยลดความเสี่ยงและสนับสนุนสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการที่จะไปดำเนินธุรกิจด้านการค้า การให้บริการ และการลงทุน โดยเฉพาะใน CLMV โดยขอความร่วมมือสถานทูต สถานกงสุล สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการพิจารณาคัดเลือกคู่ค้าในต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงการคลัง และธสน. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: กระทรวงการต่างประเทศ และ กกร.)

4.2 การสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวจากต่างชาติ

(1) การสนับสนุนการจัดทำวีซ่าประเภทเข้าออกหลายครั้ง (Multiple-Entry Visa) ที่มีระยะเวลาหลายปี โดยให้สามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2556 ก่อนฤดูกาลท่องเที่ยวสำคัญปลายปี (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงการต่างประเทศ)

(2) การสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอย (Shopping Paradise) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวและไม่มีผลกระทบหรือมีผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศน้อย (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก: กระทรวงการคลัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และ กกร.)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 สิงหาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ