พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 14, 2013 06:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. บททั่วไป

1.1 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 และฉบับที่ 2 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2538

1.2 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่อากาศยานที่ใช้ในบริการทางทหาร ตำรวจ หรือศุลกากรของรัฐต่างประเทศ

1.3 กำหนดบทนิยาม “อากาศยาน” “อากาศยานไทย” “อากาศยานต่างประเทศ” “อากาศยานในระหว่างบิน” “อากาศยานในระหว่างบริการ” “ท่าอากาศยาน” “บุหรี่” “ใช้กำลังประทุษร้าย” “ใช้กำลังทำร้าย” “ทำร้ายร่างกาย” “เจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน” “ผู้ควบคุมอากาศยาน” “เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับความผิดในอากาศยาน” และ “เจ้าหน้าที่ผู้รักษาความปลอดภัยในอากาศยาน”

1.4 กำหนดให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีอำนาจออกกฎกระทรวงและระเบียบตามพระราชบัญญัตินี้

2. หมวด 1 ความผิดเกี่ยวกับการเดินอากาศและอากาศยาน

2.1 กำหนดความผิดของผู้อยู่ในอากาศยานในระหว่างการบิน สำหรับการกระทำที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยาน เช่น สูบบุหรี่ในห้องน้ำหรือที่ที่มิได้จัดไว้ให้สูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเวลาห้ามใช้ กระทำต่อร่างกายผู้อื่นอันเป็นการมุ่งหมายในทางเพศ ใช้วาจาลวนลามหรือแสดงกิริยาอันเป็นการลามก เป็นต้น

2.2 กำหนดความผิดของผู้อยู่ในอากาศยานในระหว่างการบิน สำหรับการกระทำที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายไทย และการกระทำนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยาน เช่น ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น ทำให้เสียทรัพย์ กระทำการที่ทำให้เกิดความวุ่นวายภายในอากาศยาน ใช้กำลังทำร้ายผู้ควบคุมอากาศยานหรือเจ้าหน้าที่ ฆ่าผู้อื่น ยึดหรือเข้าควบคุมอากาศ ฯลฯ เป็นต้น

2.3 กำหนดความผิดของผู้ที่ทำให้อากาศยานไม่สามารถทำการบินได้ หรือก่อให้เกิดความเสียหายซึ่งน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างการบิน เช่น ทำลายอากาศยานในระหว่างบริการ ทำให้อากาศยานเสียหายจนไม่อาจทำการบินได้ วางวัสดุหรือสิ่งใด ๆ ที่น่าจะทำลายอากาศยาน หรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายจนเป็นเหตุให้อากาศยานไม่อาจทำการบินได้ เป็นต้น

2.4 กำหนดความผิดของผู้ที่กระทำความผิดในท่าอากาศยานหรือกระทำการใด ๆ ทำให้การให้บริการของท่าอากาศยานหยุดชะงัก ได้แก่ ใช้อาวุธหรือวัสดุอื่นใดทำร้ายผู้อื่นในท่าอากาศยานจนได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ทำความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อท่าอากาศยานทำให้บริการของท่าอากาศยานหยุดชะงัก ฆ่าผู้อื่นในท่าอากาศยาน

2.5 กำหนดความผิดของผู้ที่ทำลายหรือทำให้เสียหายแก่เครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ หรือแจ้งข้อความหรือส่งข่าวสารอันเป็นเท็จเป็นเหตุให้ผู้ที่อยู่ในท่าอากาศยานหรือผู้ที่อยู่ในอากาศยานในระหว่างการบินเกิดความตื่นตกใจ

3. หมวด 2 อำนาจหน้าที่ของผู้ควบคุมอากาศยาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับความผิดในอากาศยาน และเจ้าหน้าที่ผู้รักษาความปลอดภัยในอากาศยาน

3.1 การปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดในอากาศยาน

3.1.1 กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ควบคุมอากาศยานไทยที่อาจใช้มาตรการอันสมควร รวมทั้งการควบคุมตัวบุคคลผู้กระทำการ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของอากาศยานหรือของบุคคลหรือทรัพย์ในอากาศยาน รวมทั้งอาจสั่งหรือมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน และอาจขอร้องหรือมอบอำนาจให้ผู้โดยสารควบคุมตัวบุคคลผู้กระทำการได้

3.1.2 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับนำตัวบุคคลลงจากอากาศยานไทยเมื่ออากาศยานไทยลงสู่พื้นนอกราชอาณาจักรหรือในราชอาณาจักร

3.2 กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รักษาความปลอดภัยในอากาศยาน เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในอากาศยาน

4. หมวด 3 เขตอำนาจศาล

4.1 กำหนดให้การกระทำความผิดร้ายแรงที่กระทำต่ออากาศยานไทยนอกราชอาณาจักร ต้องรับโทษในราชอาณาจักร

4.2 กำหนดให้การกระทำความผิดในหรือต่ออากาศยานต่างประเทศ นอกราชอาณาจักร ต้องรับโทษในราชอาณาจักร กรณีอากาศยานนั้นอยู่ในหรือบินอยู่เหนือราชอาณาจักรหรืออากาศยานนั้นอยู่ในระหว่างการบินนอกราชอาณาจักร และอากาศยานนั้นได้ลงสู่พื้นราชอาณาจักรเป็นแห่งแรกหลังจากได้กระทำความผิด หรืออากาศยานนั้นลงสู่พื้นในราชอาณาจักรพร้อมด้วยผู้กระทำผิดหรือพบตัวผู้กระทำผิดในราชอาณาจักร

4.3 กำหนดให้การกระทำความผิด ณ ท่าอากาศยานที่ให้บริการการบินพลเรือนระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่นอกราชอาณาจักร และการกระทำความผิดต่อเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศที่ให้บริการการเดินอากาศระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่นอกราชอาณาจักรจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร

4.4 กำหนดให้ศาลนำบทบัญญัติมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับกับการกระทำนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือการกระทำที่จะต้องรับโทษในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้

5. บทเฉพาะกาล

5.1 กำหนดให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 เป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับความผิดในอากาศยานตามพระราชบัญญัตินี้

5.2 กำหนดให้บรรดาการส่งตัว การรับแจ้ง การรับรายงาน และการสอบสวนเบื้องต้นที่ค้างดำเนินการอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 จนกว่าจะเสร็จสิ้น

5.3 กำหนดให้ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวงกำหนดความผิดร้ายแรงตามมาตรา 30 ให้ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปเป็นความผิดร้ายแรงตามมาตรา 30 แห่งราชบัญญัตินี้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 สิงหาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ