1. เห็นชอบความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของอาเซียน และให้เสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของอาเซียน พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป เมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบความตกลงตามข้อ 1 แล้ว
3. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการให้สัตยาบันความตกลงฯ และให้ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อความตกลงฯ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และร่างพระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับแล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของอาเซียน มีสาระสำคัญให้นิติฐานะแก่อาเซียนทั้งในบริบทของกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้อาเซียนในฐานะองค์กรสามารถทำนิติกรรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งกำหนดเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามที่กฎบัตรฯ ระบุไว้เป็นหลักการให้แก่อาเซียนและบุคคลประเภทต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานให้กับอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลข้างต้นมีอิสระในการทำงานและจะผลิตผลงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันอาเซียน พ.ศ. .... กำหนดให้อาเซียน สถานที่ ทรัพย์สิน และสินทรัพย์ของอาเซียน การสื่อสาร บรรณาสาร และเอกสารทั้งปวงที่อาเซียนมีกรรมสิทธิ์หรือที่ยึดไว้ ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย รวมทั้งให้พนักงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนและเจ้าหน้าที่ของรัฐสมาชิกได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามที่ระบุไว้ในความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของอาเซียน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 สิงหาคม 2556--จบ--